ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะพิจารณาตรวจสอบแผนการปฏิรูปดังกล่าว ก่อนที่จะรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซนในวันเสาร์ และจากนั้นผู้นำ EU จะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่า จะให้ความช่วยเหลือต่อกรีซหรือไม่ ในการประชุมวันอาทิตย์
กลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปจะหารือกันเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการใช้นโยบายที่กรีซได้ยื่นเสนอครั้งใหม่นี้ เพื่อประเมินว่ากรีซจะสามารถควบคุมยอดเกินดุลงบประมาณให้อยู่ในอัตราส่วน 1% ต่อจีดีพีในปี 2558, 2% ต่อจีดีพีในปี 2559, 3% ต่อจีดีพีในปี 2560 และ 3.5% ต่อจีดีพีในปี 2561 ได้หรือไม่
ข้อเสนอของกรีซเพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับความช่วยเหลือด้านการเงินในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้านั้น ยังรวมถึงการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม, มาตรการภาษีประเภทอื่นๆ, การปฏิรูปบำเหน็จบำนาญ และการปฏิรูปการบริหารราชการ
นอกจากนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการปรับลดเพดานการใช้จ่ายทางทหารลง 100 ล้านยูโรในปี 2558 และปรับลดลง 200 ล้านยูโรในปี 2559 ส่วนการปฏิรูปบำเหน็จบำนาญนั้น รัฐบาลกรีซให้คำมั่นว่าจะมีการปฏิรูปบำเหน็จบำนาญครั้งใหม่ในเดือนต.ค.ปีนี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุก่อนกำหนด
ส่วนในการปฎิรูปการบริหารราชการ การบังคับใช้กฎหมาย การต่อต้านคอร์รัปชั่น และภาษีนั้น กรีซให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานสรรพากรและศุลกากร รวมทั้งจะปราบปรามการลักลอบค้าเชื้อเพลิงและหลบเลี่ยงภาษี
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดของกลุ่มผู้นำยูโรโซนและ EU ในวันอาทิตย์นี้ จะเป็นการประชุมเพื่อชี้ชะตาว่า กรีซและเจ้าหนี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้หรือไม่ และกรีซจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนหรือไม่