คล้อยหลังไปแค่ 3 วัน มนุษย์ออนไลน์ก็ต้องสะดุ้งอีกครั้งกับข่าวระลอกใหม่ เมื่อเพียร์สันเจ้าเก่า ประกาศขายหุ้น 50% ใน ดิ อิโคโนมิสต์ นิตยสารที่มีอายุเก่าแก่ถึง 172 ปี ด้วยราคาที่คาดคะเนกันไว้ที่ 620 ล้านดอลลาร์ คราวนี้นักสืบออนไลน์ไม่รอช้า พากันขุดคุ้ยหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเพียร์สันจึงยอมสลัดสื่อที่ทรงคุณค่าอย่างไฟแนนเชียล ไทม์ส และดิ อิโคโนมิสต์ ... และเพราะเหตุใด นิกเกอิจึงยอมทุ่มเงินถึง 1.32 พันล้านดอลลาร์ เพื่อครอบครองไฟแนนเชียล ไทม์ส ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับเมื่อครั้งที่ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้ง Amazon.com ควักเงินส่วนตัวซื้อ "วอชิงตัน โพสต์" ด้วยสนนราคาเพียง 25 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ย้อนไปเมื่อปีค.ศ.1996 รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าพ่อวงการสื่อชาวออสเตรเลียได้แสดงความสนใจที่จะฮุบธุรกิจเรือธงของเพียร์สัน นั่นคือไฟแนนเชียล ไทม์ส เพื่อหวังที่จะสร้างอาณาจักรหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น วอลล์สตรีท เจอร์นัล ยังส่งสายตาจีบไฟแนนเชียล ไทม์ส เพื่อหวังจะสร้างฐานการตลาดนอกเขตแดนสหรัฐ แต่กองบรรณาธิการของไฟแนนเชียล ไทม์ส แสดงจุดยืนที่เข้มแข็งในฐานะสื่อน้ำดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั่วโลก จึงทำให้เพียร์สันปิดตายประตูสำหรับข้อเสนอของทั้งเจ้าพ่อเมอร์ดอค และวอลล์สตรีท เจอร์นัล
เมื่อเมอร์ดอคถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี มีหรือเจ้าพ่อสื่อรายนี้จะยอมแพ้ เขาอดทนเดินหน้าไล่ซื้อสื่อหัวใหญ่ต่อไป กระทั่งในปีค.ศ.2007 เมอร์ดอคลั่นกลองรบด้วยการซื้อกิจการ "ดาวโจนส์ แอนด์ โค" ในเงินสูงถึง 5,600 ล้านดอลลาร์ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามสื่อออนไลน์เต็มรูปแบบ เพราะเมอร์ดอคต้องการชิงลูกค้าทั้งในกลุ่มผู้อ่านและโฆษณาจากไฟแนนเชียล ไทม์ส และนิวยอร์ก ไทม์ส สองคู่แข่งตัวกลั่น โดยใช้กลยุทธ์ลดราคาสะบั้นหั่นแหลกทั้งหนังสือพิมพ์และค่าโฆษณา และทุ่มทุนกับเนื้อหาข่าวโดยยอมขาดทุนในระยะแรกเพื่อเผด็จศึกให้ราบคาบในสงครามสื่อ
การเปิดแนวรบของเมอร์ดอคในครั้งนั้น สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการสื่อ เรียกได้ว่า "ฮุบคำเดียว...กระเพื่อมไปทั้งสระ" สื่อเล็กสื่อใหญ่ต่างพากันปรับกระบวนทัพกันให้วุ่น แม้แต่ไฟแนนเชียล ไทม์สเองก็ยังไปจับมือกับเว็บไซต์อย่างยาฮู ไฟแนนซ์ และกูเกิล ไฟแนนซ์ เพื่อเตรียมทัพรับมือหากเมอร์ดอคขยับขยายให้บริการนอกเหนือจากฐานสมาชิก ไปยังชุมชนคนออนไลน์ในวงกว้างขึ้น ซึ่งจะทำให้สื่อในอาณาจักรของเมอร์ดอคสามารถดึงดูดโฆษณาได้มากขึ้นตามไปด้วย
แต่จากนั้นไม่นานนัก ไฟแนนเชียล ไทม์ส เริ่มตั้งสติและหันกลับมาสู่จุดยืนของตนเองที่ว่า ไฟแนนเชียล ไทม์สเป็นแหล่งข้อมูลธุรกิจที่อิสระและถูกต้องเพียงใด ตามสโลแกนตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งว่า "Financial Times the friend of 'The Honest Financier and the Respectable Broker' พร้อมกับเดินหน้าใช้กลยุทธ์คลาสสิคดั้งเดิมคือ เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างภาพลักษณ์เหนือระดับให้ไฟแนนเชียล ไทม์ส แตกต่างจากกลยุทธ์ตลาดมหาชนของเมอร์ดอค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโต้นิ่มๆตามสไตล์ผู้ดี ผ่านทางแคมเปญโฆษณาบนสื่อหน้าหนึ่งของตนเองว่า "We are Financial Times" ราวกับจะสอนเจ้าพ่อเมอร์ดอคอย่างอ้อมๆว่า ในวงการสื่อนั้น คำว่า "Mogul" กับ "Tycoon" ต่างกันอย่างไร!
หลังจากรอดกรงเล็บของเมอร์ดอคมาได้หลายปี ไฟแนนเชียล ไทม์ส ก็ดำรงตนในฐานะสื่อธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลและมีฐานผู้อ่านทั่วโลกมากกว่าคู่แข่งอย่างวอลสตรีทเจอร์นัล สตีฟ ชิฟเฟอร์ส ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชนแห่งมหาวิทยาลัยซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ลอนดอน กล่าวว่า จุดแข็งของไฟแนนเชียล ไทม์ส คือการมีแหล่งข่าวที่ดีเยี่ยม มีบทบรรณาธิการและการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือซึ่งครอบคลุมทั้งในแง่ตลาดเงินทุน และพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง
กระทั่งเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ไฟแนนเชียล ไทม์ส ได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อเพียร์สันซึ่งเป็นบริษัทแม่ ตัดสินใจหันหน้าเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของไฟแนนเชียล ไทม์ส เพื่อขายกิจการหนังสือพิมพ์อันทรงคุณค่ารายนี้ โดยจอห์น ฟอลลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเพียร์สัน ให้เหตุผลว่า เพียร์สันเองเป็นบริษัทด้านการศึกษาและต้องการมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจด้านการศึกษา และเพียร์สันมองว่า ไฟแนนเชียล ไทม์ ควรมาถึงจุดที่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มุ่งเน้นวารสารศาสตร์อย่างครบวรจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้อ่านทั่วโลกนิยมหาข้อมูลบนมือถือและผ่านโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น การเจรจาในครั้งนั้นถือเป็นการเปิดประตูให้สื่อรายอื่นๆ เข้ามาเสนอเงื่อนไขเพื่อซื้อไฟแนนเชียล ไทม์ส
ในช่วงแรกๆนั้น มีแคนดิเดทมากมายจากสื่อฝั่งตะวันตกและยุโรปที่ถูกมองว่าจะได้ครอบครองไฟแนนเชียล ไทม์ส รวมถึงสื่อยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี เอ็กซ์เซล สปริงเกอร์ แต่แล้วก็เกิดปรากฎการณ์ล็อคถล่ม เมื่อม้านอกสายตาอย่าง นิกเกอิ อิงค์ สื่อชื่อดังของญี่ปุ่นกลับกลายเป็นผู้หยิบชิ้นปลามัน นิกเกอิประกาศเทคโอเวอร์ไฟแนนเชียล ไทม์ส อย่างเป็นทางการ ด้วยราคาแพงถึง 1.32 พันล้านดอลลาร์ ตัดหน้าแคนดิเดทรายอื่นๆอย่างไม่เห็นฝุ่น
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า นิกเกอิจะได้ประโยชน์จากคอนเทนท์ที่น่าเชื่อถือของไฟแนนเชียล ไทม์ส และการที่ปัจจุบันไฟแนนเชียล ไทม์ส มีการตีพิมพ์ใน 5 เวอร์ชั่นคือ อังกฤษ ยุโรป สหรัฐ เอเชีย และตะวันออกกลาง และฉบับภาษาจีนนั้น จะยิ่งทำให้ฐานลูกค้าของนิกเกอิขยายออกไปทั่วโลก นอกจากนี้ การที่ไฟแนนเชียล ไทม์ส ยังสามารถรักษาจุดยืนของตนเองที่ว่า การเป็นสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพควรได้รับค่าตอบแทนและด้วยความที่ไฟแนนเชียล ไทม์สได้รับการยอมรับมานานกว่าศตวรรษ ก็ยิ่งทำให้นิกเกอิเชื่อว่านี่จะเป็นแรงดึงดูดโฆษณาได้เป็นอย่างดี
แม้ไฟแนนเชียล ไทม์ส ต้องออกจากร่มเงาของเพียร์สัน เจ้าของเดิมที่อยู่คู่บารมีกันมาเนิ่นนาน แต่ไฟแนนเชียล ไทม์ส ยังต้องเดินทางต่อไป ภายใต้เจ้าของใหม่ที่หยั่งรากลึกในวงการสื่อแดนอาทิตย์อุทัยมานานแสนนานเช่นกัน ... และคงต้องรอดูกันในภาคต่อไปว่า เส้นทางของไฟแนนเชียล ไทม์ส นับจากนี้จะโรยด้วยกลีบซากุระหรือไม่