ประเทศกลุ่มเอเชียแปซิปิกเล็งยกเลิกภาษีนำเข้าต่อสินค้า 80% ภายใน 10 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2015 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐมนตรีกระทรวงการค้าจากกลุ่มเอเชียแปซิฟิก 16 ประเทศ ได้ทำข้อตกลงร่วมกันเมื่อวานนี้เพื่อยกเลิกการเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้าเป็นสัดส่วน 80% ภายในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ในการหารือด้านข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค

10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งได้มีการเจรจาข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จในภูมิภาค (RCEP) มานับตั้งแต่ปี 2556 ได้ประสบกับความยุ่งยากในประเด็นรูปแบบการลดภาษี (modality) มาจนถึงปัจจุบัน

"ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดซึ่งเราได้มีข้อตกลงร่วมกันวันนี้ได้แก่ข้อตกลงด้านรูปแบบการลดภาษี" นายมุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรี พร้อมเสริมว่า "ผมมองว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่"

บรรดารัฐมนตรีการค้ามีมติว่า เมื่อมีการบังคับใช้กฎใหม่แล้วจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับรายการสินค้าเป็นสัดส่วน 65% และใน 10 ปีจะขยายเป็น 80%

"ส่วนรายละเอียดนั้นน่าจะสรุปได้ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้" นายโมฮาเหม็ดกล่าว "เรามีจุดยืนเพื่อให้ข้อตกลง RCEP สามารถสรุปได้เสร็จสิ้นภายในปลายปีนี้ ขณะนี้ยังคงมีประเด็นทางเทคนิคบางประการที่จำเป็นต้องสรุปให้ได้ในปี 2559 โดยเราต้องยึดกับความเป็นจริง แม้ว่าแผนที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นมีกำหนดการเสร็จสิ้นภายในปี 2558 แต่วันนี้เราทราบว่าปัญหาบางอย่างอาจต้องยืดเวลาต่อไป ซึ่งเป็นเพียงปัญหาเล็กๆน้อยๆเท่านั้น"

สำหรับปัญหาที่พบในการเจรจานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากบางประเทศไม่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีร่วมกัน เช่น ญี่ปุ่นและจีน หรือจีนและอินเดีย

ทางคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงการค้ามีกำหนดการประชุมร่วมกันอีกครั้งวันที่ 12-16 ตุลาคมนี้ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

"เราหวังว่าเมื่อถึงเวลาประชุมที่เมืองปูซานในเดือนต.ค.นี้ ประเทศต่างๆจะมีการแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องและข้อเสนอ" นายมุสตาปากล่าว โดยเขาคาดหวังว่าข้อตกลงนี้จะสามารถสรุปได้ในช่วงกลางปี 2559

ทั้งนี้ ข้อตกลง RCEP ถูกมองว่าเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากครอบคลุมประชากรถึงครึ่งหนึ่งของโลก โดยมีผลผลิตรวมกันถึง 22.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2557 คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของเศรษฐกิจโลก สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ