กลุ่ม 12 ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคแล้วเมื่อวานนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และจะกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศใหม่ๆในด้านการค้าและการลงทุน
กลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งนำโดยสหรัฐ มีสัดส่วนราว 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลก
ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องได้รับการลงนามอย่างเป็นทางการจากประเทศที่เป็นหุ้นส่วน และต้องได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติของแต่ละประเทศก่อนที่จะมีผลบังคับใช้
สหรัฐ
ทำเนียบขาวประเมินว่า ข้อตกลงจะช่วยลดภาษีสินค้าที่สหรัฐผลิตจำนวน 18,000 รายการ ในขณะที่กลุ่มชาวประมงกุ้งในเวียดนามหรือเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์จะได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดทั่วทั้งแปซิฟิคได้อย่างทั่วถึงด้วยต้นทุนที่ถูกลง ในขณะที่นักวิจารณ์ในสหรัฐมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานภาคการผลิตของสหรัฐ รวมทั้งถ่วงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมลง และยังจะทำให้ราคายาสูงขึ้นด้วย
ญี่ปุ่น
กลุ่มผู้ผลิตรถและชิ้นส่วนสัญชาติญี่ปุ่นอาจจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากสินค้าของกลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงตลาดสหรัฐได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ในขณะที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุด
ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการจัดเก็บภาษีเนื้อวัว ซึ่งจะมีการปรับลดภาษัเนื้อวัวลงเหลือ 9% ในช่วงระยะเวลา 16 ปี จากอัตราภาษีที่ 38.5% ส่วนภาษีเนื้อสุกรก็จะถูกปรับลดลงด้วยเช่นกัน
ออสเตรเลีย
ข้อตกลงดังกล่าวจะขจัดภาษีนำเข้ามูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และออสเตรเลียจะยังได้เข้าถึงตลาดน้ำตาลของสหรัฐ โดยกลุ่มปศุสัตว์ของออสเตรเลียยังจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของญี่ปุ่นลง
นิวซีแลนด์
รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของนิวซีแลนด์มองว่า การค้าของนิวซีแลนดฺ์และประเทศพันธมิตร TPP จะได้รับประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีลง 93% คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 259 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์
ในขณะที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมจะไดั้รับอานิสงส์ประมาณ 102 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ แต่ยังคงมีการจัดเก็บภาษีไว้ในตลาดหลักๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น แคนาดา และเม็กซิโก
เวียดนาม
เวียดนามเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากข้อตกลงจะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้อีก 11% ภายในปี 2568 และการส่งออกคาดว่า จะขยายตัว 28% ในช่วงเวลาเดียวกัน
มาเลเซีย
วิสาหกิจของมาเลเซียอาจจะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงที่ได้มีการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงโครงการจัดซื้อของรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่กลุ่มส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เคมี น้ำมันปาล์ม และยาง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ในฐานะที่มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และยังเป็นประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จีน
สื่อต่างประเทศมองว่า จีนอาจจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดรายหนึ่ง เนื่องจากจีนไม่สามารถเข้าร่วมกลุ่ม TPP ได้ เพราะข้อตกลงนี้จะเปิดทางให้สหรัฐกระชับสัมพันธ์การค้าในภูมิภาคอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังช่วยยกระดับความสำคัญของสหรัฐที่มีต่อเอเชีย ภายหลังจากที่จีนได้ปฏิเสธเข้าร่วมกลุ่ม TPP ในช่วงแรกแล้ว เจ้าหน้าที่จีนสนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มในอนาคต