"ฮิลลารี คลินตัน" คัดค้านข้อตกลง TPP ชี้ไม่เป็นผลดีต่อชาวอเมริกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2015 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นพิพาท หลังได้มีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาระหว่างสหรัฐกับประเทศแถบแปซิฟิกอีก 11 ประเทศ

"ณ ขณะนี้ดิฉันไม่สนับสนุนข้อตกลงดังกล่าวหลังจากที่ได้ไปศึกษามา" นางคลินตันกล่าวในรายการ PBS NewsHour โดยเธอไม่เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะช่วยสร้างงานที่ดีให้กับชาวอเมริกัน อีกทั้งไม่น่าจะมีบทบาทในการเพิ่มค่าจ้างและยกระดับความมั่นคงของประเทศ

นางคลินตันเปิดเผยว่าเธอรู้สึก "วิตกใจ" ในเรื่องของการปั่นค่าเงิน (currency manipulation) ซึ่งไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในข้อตกลงดังกล่าว พร้อมเสริมว่า "บริษัทเภสัชภัณฑ์อาจได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยและผู้บริโภคอาจเสียผลประโยชน์"

การแสดงจุดยืนคัดค้านของนางคลินตันเกิดขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐได้พยายามโน้มน้าวให้สภาคองเกรสและประชาชนยอมรับข้อตกลงการค้าดังกล่าว โดยข้อตกลง TPP จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติโดยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐโน้มน้าวว่าข้อตกลงร่วมกับประเทศแถบแปซิฟิกเป็นหนทางในการสร้างงานและวางกฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่บรรดาสหภาพแรงงาน กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม องค์กรด้านการดูแลผู้บริโภคและบริการสุขภาพทั่วประเทศต่างแสดงจุดยืนคัดค้านเนื่องด้วยความวิตกหลายประการ

"เรารู้สึกผิดหวังที่ทางผู้เจรจาของเราได้เร่งรัดสรุปข้อตกลง TPP ที่แอตแลนต้า เมื่อพิจารณาถึงประเด็นวิตกที่ชาวอเมริกันผู้ถือผลประโยชน์และสมาชิกสภาคองเกรสได้หยิบยกขึ้นมา" นายริชาร์ด ทรัมก้า ประธานสหภาพ AFL-CIO ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากระบุในแถลงการณ์ "เราจะประเมินรายละเอียดอย่างรอบคอบ และจะโค่นล้มข้อตกลงการค้านี้หากพิจารณาแล้วไม่สมควร"

ด้านสมาชิกพรรครีพับลิกันที่มีอิทธิพลและสนับสนุนนโยบายการค้าบางรายก็ได้ตั้งข้อสงสัยต่อข้อตกลงการค้านี้เช่นกัน

นายออร์ริน แฮตช์ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันประจำคณะกรรมการการเงินแห่งวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจเหนือการค้า กล่าวว่า "ขณะที่รายละเอียดยังคงปรากฎให้เห็น แต่น่าเสียดายที่ผมเกรงว่าข้อตกลงดังกล่าวดูไม่เป็นไปตามที่คาด"

กลุ่ม 12 ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และจะกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศใหม่ๆในด้านการค้าและการลงทุน

กลุ่มประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งนำโดยสหรัฐ มีสัดส่วนราว 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลก

เนื่องจากปธน.โอบามาจำเป็นต้องแจ้งสภาคองเกรสเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วันก่อนที่จะมีสิทธิลงนามในข้อตกลง TPP แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังมีหนทางอีกยาวไกลกว่าที่ทางสภาคองเกรสจะอนุมัติข้อตกลงนี้

เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจาก Public Citizen คาดการณ์ว่า สภาคองเกรสน่าจะเปิดการลงคะแนนเพื่ออนุมัติข้อตกลง TPP อย่างเร็วที่สุดเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะเปิดฉากขึ้นในรัฐที่มีการลงคะแนนโหวตก่อนอย่างไอโอวาและนิวแฮมพ์เชอร์

ด้านผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายรายจากทั้งพรรครีพับลิกันและแดโมแครตได้เริ่มกล่าวโจมตีข้อตกลง TPP ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิตกต่อการว่างงานในสหรัฐ

และเนื่องจากข้อตกลง TPP อาจกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในการหาเสียงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ ทางสภาคองเกรสอาจประสบกับความยากลำบากในการอนุมัติข้อตกลงดังกล่าวในปีหน้า

ทั้งนี้ สมาชิกหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วยประเทศออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐและเวียดนาม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ