นายนาจิบ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังด้วยนั้น คาดว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียจะขยายตัว 4.5 - 5.5% ในปีนี้ แต่อาจขยายตัวช้าลงเป็น 4 - 5% ในปีหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั่วโลก
โดยในปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซีย ขยายตัวประมาณ 6%
"เราตระหนักดีว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ซึ่งรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ น้ำมันปาล์ม และยาง การอ่อนค่าของสกุลเงินริงกิต และการขยายตัวช้าลงในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว" นายกฯมาเลเซียระบุถึงการปรับลดคาดการณ์เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี 2559
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของรายได้รัฐบาล ซึ่งคาดว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลลดลงประมาณ 28% จาก 4.4 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2558 สู่ระดับ 3.17 หมื่นล้านริงกิตในปีหน้า
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน หลังสกุลเงินริงกิตอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ที่ 4.2 ริงกิต/ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี นายนาจิบยังคงมีมุมมองต่อเศรษฐกิจประเทศในเชิงบวก
"ในความเป็นจริงนั้น มาเลเซียไม่ใช่ประเทศที่ล้มเหลวหรือล้มละลาย แต่เป็นประเทศที่มั่นคงด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และยังคงเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน" เขากล่าว ซึ่งถือเป็นความพยายามที่จะคลายความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศเก็บภาษีสินค้าและบริการ 6.0% เมื่อเดือนเม.ย. ปีนี้
นายนาจิบเสนอเพิ่มงบประมาณปี 2559 ขึ้น 2.5% จากปีนี้ และขาดดุลลดลงที่ 3.1% จาก 3.2% ในปี 2558
ในบรรดามาตรการต่างๆ ที่นายกฯ มาเลเซียได้ประกาศวานนี้นั้น รวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 900 ริงกิตในปัจจุบัน เป็น 1,000 ริงกิต/เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ปีหน้า สำหรับเงินเดือนข้าราชการจะเริ่มต้นที่ 1,200 ริงกิต
นอกจากนี้ เขายังได้เสนอปรับขึ้นเงินสงเคราะห์สำหรับคนจน ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 5.9 พันล้านริงกิตสำหรับ 4.7 ล้านครัวเรือน และผู้ที่ไม่มีครอบครัว 2.7 ล้านคน
ในส่วนของมาตรการทางภาษีนั้น จะมีการลดหย่อนภาษีหลายรายการ ขณะที่ผู้มีรายได้สูงกว่า 600,000 ริงกิตจะต้องจ่ายภาษีสูงขึ้นเป็น 26-28% แทนอัตราภาษีคงที่ที่ 25% ในปัจจุบัน
การนำเสนอแผนงบประมาณและมาตรการต่างๆดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่คะแนนนิยมของนายนาจิบลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนไม่พอใจการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล