OECD ระบุในรายงานว่า เศรษฐกิจของบราซิล ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา กำลังเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤต เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง การว่างงานเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี
OECD สรุปว่า "บราซิลกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต เนื่องจากสถานการณ์การคลังของประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทาย อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น และปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆกำลังจะสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง และประชากรวัยหนุ่มสาว"
รายงานของ OECD แนะนำว่า "บราซิลจะต้องควบคุมการใช้จ่ายสาธารณะไม่ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นและทำให้การใช้จ่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงปฏิรูประบบเกษียณอายุของประเทศ" พร้อมกับเสริมว่า บราซิลจะต้องรับมือกับความท้าทายในการเดินหน้านโยบายทางสังคมที่ช่วยขจัดความยากจนของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
OECD แนะนำให้บราซิลเดินหน้าแผนปรับปรุงสถานะทางการคลัง เพื่อปรับปรุงกองทุนสาธารณะที่ย่ำแย่ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด
"จะต้องมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในส่วนของนโยบายการเงินและการคลัง" OECD ระบุ พร้อมกับย้ำว่า "จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างขนานใหญ่และเร่งด่วนเพื่อลดช่องว่างด้านผลิตภาพ" สำนักข่าวซินหัวรายงาน