วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติมาตรการดังกล่าว พร้อมกับการอนุมัติงบประมาณสำหรับปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนก.ย. 2559
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การดำเนินการปฏิรูป IMF ให้จีนมีสิทธิออกเสียงมากขึ้นในฐานะผู้สนับสนุนรายใหญ่อันดับ 3 ของกองทุนฯ รองจากสหรัฐและญี่ปุ่น
ในปี 2553 ประเทศสมาชิกของ IMF ได้เห็นชอบชุดมาตรการปฏิรูปเพื่อยกสิทธิในการออกเสียง 6% ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการจัดสรรโควตาใหม่ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสสหรัฐไม่สามารถผ่านมาตรการปฏิรูปดังกล่าวได้ จึงทำให้เรื่องยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน สหรัฐได้มีคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันดิบในหลักการมาตั้งแต่ปี 2518 หลังจากที่มีการหยุดการขนส่งน้ำมันจากประเทศในกลุ่มอาหรับในปี 2516 อย่างไรก็ดี การพัฒนาน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ที่เฟื่องฟูในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้มีความต้องการยกเลิกคำสั่งแบนดังกล่าว
ในตอนแรก พรรคเดโมแครตยืนกรานคัดค้านการยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมัน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ทางพรรคเปลี่ยนใจกลับมาสนับสนุน โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลจะต้องสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์