รายงานจากสถาบันด้านยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันสังคมศาสตร์ของจีน (CASS) ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงทั่วโลกตั้งแต่ปี 2558 ก่อให้เกิดแรงกดดันด้านลบต่อดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบ และปัจจัยกดดันดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคาผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
หวู่ ชี่ นักวิเคราะห์จาก China Minsheng Academy คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI อาจขยายตัว 1.7% ในปี 2559 โดยนายหวู่อธิบายว่า เมื่อมองในภาพรวมระดับสากลแล้ว การที่เงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าสกุลเงิน SDR (Special Drawing Right) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะส่งผลให้มูลค่าเงินหยวนเกิดเสถียรภาพเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป
สำหรับภาพรวมในประเทศ นายหวู่มองว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนและการใช้โมเดลส่งเสริมการบริโภคแบบใหม่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะขยายตัว 1.7% ในปี 2559 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน อาหาร และสินแร่เหล็ก จะกลายเป็นปัจจัยเอื้อหนุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2559 อีกทั้งการที่จีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 5 ครั้ง และปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) อีก 5 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2558 รวมถึงการยกระดับนโยบายการเงินเชิงรุกนั้น ทั้งหมดนี้จะช่วยหนุนดัชนี CPI ในจีนขึ้นอีก
ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายรายเชื่อว่า จีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในปี 2559 เพื่อสกัดแรงกดดันด้านลบต่อเศรษฐกิจรวมถึงภาวะเงินฝืด สำนักข่าวซินหัวรายงาน