(เพิ่มเติม) ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2559 เหตุตลาดเกิดใหม่ชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 7, 2016 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลกได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงจีน

รายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลกระบุว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัว 2.9% ในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง ซึ่งลดลง 0.4% จากที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิ.ย.2558

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นปีนี้ลง 0.4% จากที่ได้คาดการณ์เมื่อเดือนมิ.ย. เหลือ 1.3% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของผู้บริโภคประกอบกับการส่งออกนั้นอ่อนแรงลง และในปี 2560 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงเหลือ 0.9% ซึ่งลดลง 0.3% จากที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7% ในปี 2559 ลดลง 0.1% จากที่ได้คาดการณ์เมื่อเดือนมิ.ย. ส่วนปี 2560 ยังคงคาดว่าจะขยายตัว 2.4% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เนื่องจากตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายส่วนบุคคลมีความแข็งแกร่ง

ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 6.7% ในปี 2559 และ 6.5% ในปี 2560 ซึ่งลดลงจากที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า 0.3% และ 0.4% ตามลำดับ

ธนาคารโลกยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจรัสเซียที่แต่เดิมก็ย่ำแย่อยู่แล้ว หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงอย่างหนักของราคาน้ำมันและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป อันเป็นผลจากการผนวกรวมไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อปี 2557

ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจรัสเซียได้หดตัวลง 3.8% ในปี 2558 และคาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องในปี 2559 ที่ระดับ 0.7% ซึ่งลดลง 1.4% จากที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิ.ย.

นายคอชิค บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ได้ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์เนื่องด้วยปัจจัยที่ไม่ได้คาดคิด

*แนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

เมื่อแยกตามภูมิภาคแล้ว ธนาคารโลกเปิดเผยในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะยังคงชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.3 ในปีพ.ศ. 2559 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.4 เมื่อปีพ.ศ. 2558 หากไม่นับรวมจีนแล้ว ในปีพ.ศ. 2558 เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ จะเติบโตที่ร้อยละ 4.6 ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2557 เท่าใดนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซียลดตัวลง แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเวียดนามและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของไทยช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคยังคงไปได้ ความเสี่ยงสำหรับปีพ.ศ. 2559 ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความเป็นไปได้ในการเกิดความปั่นป่วนในตลาดเงิน และตลาดการเงินเกิดสภาวะตึงตัวอย่างกะทันหัน

ด้านภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ในปีพ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันลดลงอย่างช้าๆ หรือคงที่ โดยเศรษฐกิจของประเทศในฝั่งตะวันออกของภูมิภาคได้แก่ ยุโรปตะวันออก คอเคซัสตอนใต้ และเอเชียกลางจะกลับมาเติบโตระดับปานกลางหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ขณะที่ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนคาดว่าจะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปีพ.ศ. 2559 นี้ หลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 0.9 ในปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา

สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในปีพ.ศ. 2559 เร่งขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 2.5 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านมีบทบาทมากขึ้นในตลาดพลังงานโลก ส่วนภูมิภาคเอเชียใต้นั้นคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มสดใส โดยจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 7.3 ในปีพ.ศ. 2559 จากเดิมร้อยละ 7 ในปีที่ผ่านมา ในปีพ.ศ. 2559-2560 อินเดียจะเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้โดยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 7.8 และการเติบโตทางเศรษฐกิจของปากีสถาน (ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านค่าใช้จ่าย) จะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.5

ภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาราคาดว่าจะเศรษฐกิจจะเติบโดขึ้นถึงร้อยละ 4.2 ในปีพ.ศ. 2559 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.4 เมื่อปี 2558 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีเสถียรภาพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความหลากหลายทั่วทั้งภูมิภาค

ทั้งนี้ อ่านรายงานแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ www.worldbank.org/gep


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ