บาห์เรนและซูดานร่วมวงกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อตัดสัมพันธภาพกับอิหร่าน ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรนิกายสุหนี่เช่นเดียวกับซาอุดิอาระเบียด้วยนั้น ต่างก็ปรับลดความสัมพันธ์กับอิหร่าน และเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำอิหร่านกลับประเทศอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่ซาอุดิอาระเบียได้มีคำสั่งประหารชีวิตประชาชน 47 ราย ซึ่งรวมถึงนายนิมร์ อัล-นิมร์ นักการศาสนาคนสำคัญ
เบกีร์ กูเนย์ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเรเซียแห่งมหาวิทยาลัยอิสตันบุล กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ลองจินตนาการดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นภายในหนึ่งเดือนหากปราศจากซึ่งการแทรกแซง
ซาอุดิอาระเบียเองมองว่า นายอัล-นิมร์เป็นผู้ก่อการร้าย โดยนักการศาสนาคนดังกล่าวถูกมองว่าเป็นบุคคลสำคัญในสายตาของอิหร่านซึ่งนับถือนิกายชีอะห์ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือนิกายชีอะห์ด้วยเช่นกัน
อิหร่านเองก็ตอบโต้ด้วยการเปรียบเทียบซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มหัวรุนแรงอย่างกลุ่มรัฐอิสลามที่ประหารชีวิตคนด้วยการฆ่าตัดศีรษะ ขณะที่ตำรวจก็ไม่สามารถสกัดกลุ่มผู้ประท้วงจากการโจมตี และจุดไฟเผาสถานทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะรานได้
กูเนย์ กล่าวเตือนว่า ขณะที่ประเทศต่างๆเริ่มที่จะเลือกเข้าข้างประเทศต่างๆ ความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างในภูมิภาคนี้อาจจะปะทุและพร้อมจะระเบิดออกมา
กูเนย์กล่าวกับซินหัวว่า หนึ่งในสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดจากความตึงเครียดครั้งล่าสุดก็คือการลุกลามจนกลายเป็นสงครามทางศาสนาในวงกว้าง
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า อิหร่านกำลังจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่แข็งแกร่งมากขึ้นในภูมิภาค เนื่องจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ได้มีการตกลงกับประเทศมหาอำนาจของโลก และการเตรียมการเพื่อยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียไม่ค่อยจะพอใจเท่าไรนัก
ตามมุมมองของกูเนย์นั้น อิหร่านมีบทบาทเป็นผู้นำแล้ว และค่อนข้างจะมีบทบาททั้งในซีเรียและอิรัก ขณะที่ได้มีการสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของตุรกี โดยในขณะนี้ อิหร่านได้พยายามที่จะขยายบทบาทของประเทศออกไป
ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างมองเห็นว่าการสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลามนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และการช่วยเหลือซีเรียและเยเมนออกจากสงครามก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
กรณีที่ตุรกียิงเครื่องบินรบรัสเซียร่วงเมื่อวันที่ 24 พ.ย. และการใช้กองกำลังในพื้นที่ทางเหนือของอิรักเมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาได้สั่นคลอนความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ทั้งภูมิภาคต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ตุรกีสามารถมีบทบาทในการปลดชนวนความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย
กูเนย์ มองว่า ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีประชากรนับถือนิกายสุหนี่เป็นจำนวนมาก ตุรกีควรจะเป็นกลางและรับหน้าที่คนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง
ทางด้านเออร์ฮาน เคเลโซกลู นักวิเคราะห์จากคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยอิสตันบูล กล่าวว่า ขณะที่ตุรกีได้เปิดช่องทางการเจรจากับทั้ง 2 ประเทศ ตุรกีสามารถที่จะมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง และยังสามารถกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาได้อีกหลังจากที่เสียหายไปในช่วงวิกฤตซีเรีย
เคเลโซกลูยังเตือนว่า มิเช่นนั้น ตุรกีเองอาจจะจุดชนวนไฟสงครามแห่งการแบ่งแยกทางศาสนาขึ้นมา สำนักข่าวซินหัวรายงาน