บริษัทเยอรมนีเริ่มกลับลงทุนในอิหร่าน หลังการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2016 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทเยอรมนีหลายแห่งเริ่มวางแผนกลับไปดำเนินธุรกิจในอิหร่านอีกครั้ง หลังจากนานาประเทศได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เดมเลอร์ ทรัคส์ประกาศลงนามในหนังสือแสดงความจำนงค์ร่วมกับโคโดร ดีเซล (IKD) และแมมมุท กรุ๊ป เพื่อเริ่มดำเนินการ "กลับเข้าสู่ตลาดอิหร่านอย่างสมบูรณ์"

เดมเลอร์เปิดเผยในแถลงการณ์ว่า บริษัทร่วมทุนสำหรับการผลิตรถบรรทุกเมอร์เซเดส เบนซ์ และชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนในพื้นที่ รวมถึงสำนักงานขายรถบรรทุกเมอร์เซเดส เบนซ์และชิ้นส่วนประกอบต่างๆ จะตั้งอยู่ที่อิหร่าน

เดมเลอร์และหุ้นส่วนกำลังแสวงหาทางจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในอิหร่าน เพื่อจำหน่ายรถเมอร์เซเดส เบนซ์ที่ใช้เพื่อการพาณิชย์

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2559 บริษัทตั้งใจว่าจะเปิดสำนักงานตัวแทนในกรุงเตหะราน

นายวูล์ฟกัง แบร์นฮาร์ด ประธานเดมเลอร์ ทรัคส์เปิดเผยว่า "รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของเดมเลอร์มีชื่อเสียงที่ดีเยี่ยมในอิหร่านมาโดยตลอด และขณะนี้ความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อยู่ในระดับสูงมาก โดยเฉพาะรถบรรทุก เราจึงจะกลับไปทำกิจกรรมทางธุรกิจในตลาด"

เดมเลอร์ออกมาประกาศดังกล่าว หลังสหรัฐและสหภาพยุโรปตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านทางเศรษฐกิจเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังอิหร่านเริ่มปฏิบัติตามข้อตกลงนานาชาติเมื่อเดือนก.ค.2558 เพื่อจำกัดขอบเขตโครงการนิวเคลียร์

ในช่วงเดือนม.ค.ก่อนหน้านี้ บริษัทซีเมนส์ได้ลงนามในหนังสือแสดงความจำนงค์ เพื่อพัฒนาระบบรถไฟของอิหร่าน เมื่อมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

ด้านหอการค้าเยอรมนี (DIHK) เปิดเผยว่า ความต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ความสมัยใหม่ของอิหร่านคือโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับเศรษฐกิจเยอรมนี โดยตัวเลขการส่งออกของเยอรมนีไปยังอิหร่าน คาดว่าจะขยายตัวแตะ 5.0 พันล้านยูโร (ประมาณ 5.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระยะกลาง และปรับตัวขึ้น 1 หมื่นล้านยูโรในระยะยาว

ในปี 2557 ยอดส่งออกไปอิหร่านของเยอรมนีอยู่ที่ 2.4 พันล้านยูโร ขณะที่ในปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรอันเนื่องมาจากโครงการนิวเคลียร์นั้น ตัวเลขการส่งออกดังกล่าวอยู่ที่ 4.4 พันล้านยูโร

นายโวลเกอร์ ไทเออร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าระหว่างประเทศของ DIHK กล่าวว่า "บริษัทเยอรมันสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสำคัญในอิหร่านไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราจึงต้องกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเยอรมนีและอิหร่านโดยเร็ว"

DIHK ระบุว่า บริษัทเยอรมันในภาคส่วนต่างๆ เช่น รถยนต์ วิศวกรรมเครื่องกล เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรม และบริการสุขภาพ จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากตลาดอิหร่าน

ส่วนสมาคมวิศวกรรมเยอรมนี (VDMA) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ทางสมาคมได้วางแผนเปิดสำนักงานในกรุงเตหะรานช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรสัญชาติเยอรมันในการจำหน่ายสินค้าในอิหร่าน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ