บทความจากสำนักข่าวซินหัวในหัวข้อ "Chinese economic transition testing global investors' wisdom, courage," ได้เตือนว่า ผู้ที่ประเมินถึงความล้มเหลวของเศรษฐกิจและตลาดเงินทุนจีนอาจประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ และอาจเผชิญกับผลพวงในทางกฎหมาย โดยระบุถึงการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาของหน่วยงานทางการเงินของจีนต่อกลุ่มนักเก็งกำไรค่าเงินหยวน
รายงานจากบลูมเบิร์ก บิสิเนสระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเงินหยวนออฟชอร์ได้ยุติการปรับตัวลง "หลังจากที่ทางการจีนได้ประกาศปกป้องเงินหยวน เพื่อสกัดกลุ่มนักเก็งกำไรที่คาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลง"
นายฌอน คาลโลว์ นักกลยุทธ์ด้านปริวรรตเงินตราที่เวสต์แพค แบงก์กิ้ง คอร์ป ในเมืองซิดนีย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวถือเป็น "การส่งสัญญาณอย่างชัดเจนต่อกลุ่มนักเก็งกำไร"
นายคาลโลว์ คาดการณ์ถึงรูปแบบมาตรการที่รัฐบาลจีนน่าจะใช้ต่อไปว่า "ข้อจำกัดของกระแสเงินทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่ในระยะสั้นๆแล้ว เครื่องมือหลักๆที่ใช้มีแนวโน้มจะเป็นการกำหนดตัวเลขให้แน่นอน ประกอบกับมาตรการแทรกแซง"
ในระหว่างการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์บางรายมีมุมมองไม่ดีนักต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก ขณะที่มหาเศรษฐีนักลงทุนชื่อดังอย่างนายจอร์จ โซรอส เผยว่า นักลงทุนมีความต้องการเก็งกำไรกับสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิตกว่าจะมีการขายชอร์ตเซลเพิ่มขึ้นในส่วนของเงินหยวนและดอลลาร์ฮ่องกง
นายไซมอน หวาง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของเกาหยวน ซิเคียวริตีส์ เปิดเผยกับวอลล์สตรีทเจอนัลว่า บทความจากสำนักข่าวซินหัวบ่งชี้ว่า "การกอบกู้เสถียรภาพในตลาดได้กลายมาเป็นปณิธานระดับประเทศ"
ด้านนายเคน เฉิง นักวิเคราะห์จากมิซูโฮ แบงก์ ที่มีสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า "ทางการจีนจะไม่ยอมให้เงินหยวนดิ่งลงอย่างหนัก" ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออก ก่อให้เกิดสงครามค่าเงิน และสกัดกั้นการก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินสากลของเงินหยวน
บรรณาธิการข่าวการเงินของบิสิเนส อินไซเดอร์ มองว่า บทความของซินหัวนั้นเป็นคำมั่นสัญญามากกว่าคำขู่
"รัฐบาลจีนเอาจริงกับการลงโทษกลุ่มนักเก็งกำไร" บรรณาธิการผู้นี้ได้เขียนไว้ "หากจะเทขายเงินหยวนก็ขอเตือนไว้เลยว่า นี่ไม่ใช่ตลาดที่จะทำได้"
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี รายงานโดยอ้างความคิดเห็นจากนักวิจัยรายหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์จีนว่า มั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีผู้ใดประสบความสำเร็จในการท้าทายเสถียรภาพของเงินหยวนและฮ่องกงดอลลาร์
นักวิจัยรายนี้อธิบายไว้ว่า นับตั้งแต่ปี 2537 ไปจนถึง 2557 เงินหยวนได้แข็งค่าต่อเนื่องเทียบดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรากฎให้เห็นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยแข็งค่าจาก 8.6187 หยวน/ดอลลาร์ เป็น 6.1428 หยวน/ดอลลาร์ หลังจากนั้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 เงินหยวนได้อ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้เองนักลงทุนทั่วโลกจึงไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบหยวนจะไม่มีความต่อเนื่องนานนัก เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองประเทศ
ขณะเดียวกัน นายเย่อ ตัน นักวิเคราะห์ด้านการเงินชื่อดังของจีน ได้เขียนในบทบรรณาธิการทางเว็บไซต์ข่าวเศรษฐกิจจีนอย่าง NBD.com.cn ว่า ผลลัพธ์ในการต่อสู้บนอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนนั้นขึ้นอยู่กับ "วิธีการโต้ตอบทางนโยบาย" และ "ความมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบาย" ของทางการจีน
เมื่อเทียบกับการจัดการความท้าทายที่มีกลุ่มผู้ขายในต่างประเทศเป็นต้นเหตุแล้ว นายเย่อมองว่า รัฐบาลจีนควรให้ความสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของสาธารณชน ด้วยการยกระดับมาตรการปฏิรูปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเสริมความแข็งแกร่งแก่พื้นฐานทางเศรษฐกิจจีนให้มั่นคง สำนักข่าวซินหัวรายงาน