ผลวิจัยใหม่ชี้แบงก์ชาติทั่วโลกมีอิทธิพลน้อยลงต่อการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 12, 2016 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร (demographic) ทั่วโลกนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ

รายงานวิจัยดังกล่าวมีหัวข้อว่า "Why Are Interest Rates So Low" ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบัน Fraser Institute องค์กรมันสมองด้านนโยบายสาธารณะของแคนาดา

นายไมเคิล วอล์คเกอร์ ผู้จัดทำการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า "นโยบายการเงินในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นแคนาดา มีผลกระทบน้อยลงต่ออัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้ยืมเงินกับผู้ฝากเงินนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก"

ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 แทบจะทั้งหมด จำนวนผู้กู้นั้นมีมากกว่าผู้ฝาก ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงได้ปรับตัวขึ้นสูงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการฝากเงินเพื่อเป็นเงินทุนแก่ผู้กู้

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ดังกล่าวได้พลิกกลับเป็นทางตรงกันข้ามในปัจจุบัน ซึ่งผู้กู้นั้นมีน้อยกว่าผู้ฝาก

การวิจัยดังกล่าวระบุว่า จำนวนผู้ฝากที่ประสงค์จะนำเงินของตนไปลงทุนนั้นเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่นโยบายการเงินของธนาคารกลางแคนาดา หรือธนาคารกลางสหรัฐ

การวิจัยนี้ได้รวบรวมข้อมูลทางการเงินและประชากรจาก 29 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 90% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลก โดยโมเดลใหม่ของนายวอล์คเกอร์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นแตกต่างไปจากโมเดลเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมแต่มีข้อผิดพลาด ซึ่งอาศัยข้อมูลจาก "ครัวเรือนทั่วไป" ในการคาดการณ์การตอบสนองในภาคเศรษฐกิจต่อปัจจัยต่างๆที่คาดว่าส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย

ด้วยข้อผิดพลาดจากโมเดลเหล่านี้ นักวิเคราะห์หลายๆรายจึงได้คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะกลับคืนสู่ระดับปกติในเร็วๆนี้ ขณะที่ธนาคารกลางของหลายๆประเทศก็ได้พยายามส่งสัญญาณด้านอัตราดอกเบี้ย แต่อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ส่วนใหญ่นั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก

นายวอล์คเกอร์ กล่าวว่า "เป้าหมายและพฤติกรรมของ 'ครัวเรือนทั่วไป' ในแคนาดาและตามประเทศต่างๆทั่วโลกนั้นแตกต่างไปเป็นอย่างมากในวันนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่โมเดลเหล่านั้นได้ถือกำเนิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่านักวิเคราะห์เอกชนและธนาคารกลางส่วนใหญ่มีการคาดการณ์ผิดๆ" สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ