นายนิโคลัส ลาร์ดี นักวิชาการอาวุโสประจำสถาบันเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน และผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในเรื่องของเศรษฐกิจจีน เปิดเผยในรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนว่า กระแสวิตกเกี่ยวกับการเกิดภาวะฮาร์ดแลนดิ้งในจีนและการอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินหยวนนั้น ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความปั่นป่วนในตลาดโลกสำหรับปี 2559 แต่ "ทัศนคติเชิงลบเหล่านี้ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมจีนมากเกินไป" โดยอุตสาหกรรมจีนนั้นมีการเติบโตชะลอตัวลงมา 6 ปีแล้ว
นายลาร์ดี กล่าวว่า "สิ่งที่ควรให้ความสนใจมากกว่านี้ได้แก่ภาคบริการ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีน และปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP"
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เสริมว่า ทัศนคติเชิงลบเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของค่าจ้าง รายได้ที่จับจ่ายได้ของภาคครัวเรือน ปริมาณผู้โดยสารทางเครื่องบินและรถไฟ รวมถึงตัวเลขอื่นๆที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของภาคบริการในจีน
ทั้งนี้ ปัจจัยต่างๆบ่งชี้ว่า ภาคบริการในส่วนต่างๆ เช่น การค้าปลีก/ค้าส่ง ร้านอาหารและโรงแรม สุขภาพ การศึกษา การเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ จะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
นายฮาร์ดียังกล่าวด้วยว่า "ตัวเลขค่าจ้างในจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมากพอที่จะทำให้รายได้ภาคครัวเรือนนั้นขยายตัวเร็วกว่า GDP"
นายลาร์ดีกล่าวว่า ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมนั้น ก็จะทำให้ผู้บริโภคชาวจีนกล้าเอาเงินฝากมาใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากภาคบริการยังต้องอาศัยแรงงานคนมากกว่าภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการที่ภาคบริการมีสัดส่วนมากขึ้นใน GDP ก็จะนำมาซึ่งการเติบโตของการจ้างงานในเมืองเมื่อเทียบกับทิศทางในปีที่ผ่านมาๆ ซึ่งส่งผลให้รายได้ภาคครัวเรือนขยายตัวขึ้นด้วยเช่นกัน สำนักข่าวซินหัวรายงาน