"การขึ้นภาษีการขาย หรือภาษีการบริโภคในขณะนี้ถือว่ามาผิดทาง" ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว หลังจากพบกับนายอาเบะและเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นระดับสูง
การเปิดเผยครั้งนี้มีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดรับมุมมองความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก ก่อนการประชุม G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพ.ค. โดยคาดว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะเดินหน้าขึ้นภาษีการบริโภคต่อไปหรือไม่
สติกลิทซ์กล่าวว่า ปี 2558 คือปีที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเกิดขึ้นเมื่อปี 2551
"ผมมองว่าปี 2559 ก็น่าจะอ่อนแรงลงไปอีก" สติกลิทซ์กล่าว
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2544 กล่าวว่า แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีนโยบายการเงินที่แข็งแกร่งมากและมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย แต่อิทธิพลของนโยบายการเงินนั้นมีขีดจำกัด
"เมื่อ 2-3 ปีก่อนไม่มีใครคาดคิดว่าเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอเท่าทุกวันนี้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนไป คุณก็ต้องปรับนโยบายให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจใหม่ด้วย" สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดการสัมมนาทางด้านเศรษฐกิจในวันที่ 16-17 มี.ค. โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากญี่ปุ่นและต่างประเทศเพื่อมาวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก ก่อนการประชุม G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพ.ค.
ในการสัมมนาในนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้เชิญนายสติกลิทซ์ มากล่าวปาฐกถา ส่วนในวันที่ 17 มี.ค. ผู้กล่าวปาฐกถาคือนายเดล จอร์เกนสัน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนายคาซูมาสะ อิวาตะ อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น