นายหลิน ยีฟู อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ระบุในบทความซึ่งเผยแพร่วานนี้ว่า การชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้หมายความว่า จีนจะไม่สามารถรักษาอัตราการขยายตัวอย่างน้อยที่ระดับ 6.5% เอาไว้ได้ในช่วงอีก 5 ข้างหน้า
ในแผน 5 ปีฉบับที่ 13 รัฐบาลจีนได้คำมั่นว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และรายได้โดยเฉลี่ยของภาคครัวเรือนในเขตเมืองและชนบทของจีนเป็น 2 เท่า จากระดับของปี 2553 ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจจีนจจะต้องขยายตัวอย่างน้อยที่ระดับ 6.5% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับ 6.9% ในปีที่ผ่านมา สูงกว่าตัวเลขดังกล่าว 0.4%
แต่อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายได้แสดงความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวที่ระดับเป้าหมายที่ 6.5% ไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญต่างก็กำลังชะลอตัวลง
นายหลิน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีภาควิชาการพัฒนาแห่งชาติแห่งมหาวิทยาลัยเพคิงระบุว่า “ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ สิ่งที่นักวิเคราะห์เหล่านั้นไม่ได้นำมาพิจารณาด้วยคือข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆไม่ได้หยุดอยู่กับที่ และต่างก็กำลังขยายตัวและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน"
นายหลินระบุว่า ดัชนีชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดก็คือความแตกต่างประหว่างรายได้ต่อหัวของประชากรระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งรายได้ต่อหัวของประชากรของจีนอยู่ที่เพียง 30% ของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่า จีนยังคงมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก พร้อมกับยกเหตุผลสนับสนุนว่า รายได้ต่อหัวของประชากรของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสู่ระดับ 70% ของสหรัฐก่อนที่จะเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว สำนักข่าวซินหัวรายงาน