ผู้เชี่ยวชาญเผยซาอุดิอาระเบียปลดรมว.น้ำมันส่งสัญญาณปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2016 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แกรี่ ดูแกน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน (ซีไอโอ) ของธนาคารเอมิเรตส์ เอ็นบีดี ธนาคารรายแรกของดูไบ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ประกาศแต่งตั้งนายกาลิด อัล-ฟาลีห์ ประธานบริษัทซาอุดิ อาระเบียน ออยล์ คัมพะนี (อารามโก) ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันแทนที่นายอาลี อัล-ไนมี รวมทั้งการปฏิรูปตลาดเงินทุนนั้น ได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการผลัดเปลี่ยนยุคสมัยในเศรษฐกิจกลุ่มอ่าวอาหรับ

นายอาลี อัล-ไนมี วัย 80 ปี ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบียมาตั้งแต่ปี 2538 ก่อนที่ราคาน้ำมันจะดิ่งลงแตะ 10 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในปี 2541

ส่วนนายกาลิด อัล-ฟาลิห์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และประธานบริษัทอารามโก ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม และทรัพยากรแร่คนใหม่ ตามคำประกาศของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย

นายดูแกน เปิดเผยในรายงานประเมินตลาดเงินทุนประจำภูมิภาคว่า ทางการซาอุดิอาระเบียมีความตั้งใจในการรักษาระยะการเปลี่ยนแปลง "ด้านบวก" สำหรับตลาดสินทรัพย์ซาอุดิอาระเบีย

นายดูแกนยังกล่าวด้วยว่า การที่ตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบียได้รับการผนวกรวมเข้ากับดัชนี Morgan Stanley Capital International (MSCI) Emerging Market Index นั้น ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง หลังจากที่ได้มีการประกาศการปฏิรูปครั้งใหญ่ในส่วนของระเบียบตลาดเงินทุน ซึ่งจะเริ่มใช้ในช่วงต้นปี 2560

เมื่อเดือนมิ.ย. 2558 ตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบียได้อนุมัติให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดได้อย่างเป็นทางการ โดยนักลงทุนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ 6 ชาติคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) จะสามารถเข้าลงทุนในตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบียได้โดยตรง

การเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศได้เป็นครั้งแรกนี้ ถือเป็นความพยายามของซาอุดิอาระเบียที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีการกระจายไปสู่ภาคอื่นๆที่นอกเหนือจากน้ำมัน

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอ่าวอาหรับอย่างกาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ยกระดับอยู่ในฐานะตลาดเกิดใหม่มาตั้งแต่เดือนพ.ค. 2557

นายดูแกน มองว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ได้แก่การเปลี่ยนระเบียบการทำสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นการทำข้อตกลงในรูปแบบ prefund ด้วยเงินสด เป็นส่งมอบหลักทรัพย์ที่ต้องกระทำภายใน 2 วันทำการ นับจากวันที่ซื้อขาย (T+2)

นายดูแกน กล่าวว่า "การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ขั้นตอนการส่งมอบหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบียนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานสากล"

ทั้งนี้ แผนการของซาอุดิอาระเบีย ในการแข่งขันกับตลาดหุ้นทั่วโลกนั้น ครอบคลุมทั้งมาตรการควบคุมการทำชอร์ตเซล ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ยกระดับมาตรการคุ้มครอง และการใช้ระบบการชำระบัญชีและส่งมอบหลักทรัพย์ในเวลาเดียวกัน (Delivery versus Payment) สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ