สรุปแถลงการณ์ที่ประชุมผู้นำกลุ่ม G7 - ชี้ศก.โลกฟื้นตัวปานกลาง,เดินหน้าใช้นโยบายหนุนศก.เติบโตยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 27, 2016 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมระยะเวลา 2 วันของผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นต่างๆ ซึ่งมีใจความสรุปดังนี้ :

  • ประเด็นเศรษฐกิจโลก
  • ผู้นำ G7 ระบุว่า เศรษฐกิจทั่วโลกยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับปานกลางและไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลงนั้น มีมากขึ้น
  • ผู้นำ G7 ให้คำมั่นว่า จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนโยบายเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองรูปแบบความร่วมมือ และนำนโยบายมาใช้อย่างจริงจังและมีความสมดุล โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของแต่ละประเทศอย่างเฉพาะเจาะจง
  • ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการใช้เครื่องมือด้านโยบายทั้งหมดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายเชิงโครงสร้าง โดยนำมาใช้ทั้งในลักษณะประเทศใดประเทศหนึ่งและหลายประเทศโดยรวม
  • ที่ประชุมเล็งเห็นความจำเป็นของการใช้กลยุทธ์ด้านการคลังอย่างยืดหยุ่น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการหนี้สินให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน และผลักดันให้การปฏิรูปเชิงโครงสร้างมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น
  • ที่ประชุมตอกย้ำถึงการใช้นโยบายการคลังและการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายภายในประเทศ ด้วยการใช้กลไกภายในประเทศ และที่ประชุมจะไม่พุ่งเป้าไปที่อัตราแลกเปลี่ยน
  • ผู้นำ G7 มีความเห็นตรงกันว่า การปรับปรุงความโปร่งใสเรื่องการเงินและการธนาคารนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการทุจริต การหลบเลี่ยงภาษี การสนับสนุนการเงินให้กับกลุ่มก่อการร้าย และการฟอกเงิน
  • ประเด็นการค้า
  • ที่ประชุมให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าเปิดตลาด และต่อต้านพฤติกรรมกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ
  • แก้ไขกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ด้วยการกำจัดมาตรการที่บิดเบือนตลาด และปรับปรุงกลไกตลาดให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
  • ให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างระบบการค้าระดับทวิภาคีให้แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงระบบการค้าที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์การการค้าโลก
  • สนับสนุนความพยายามในการเปิดเสรีการค้าผ่านการทำข้อตกลงการค้าในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) , ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป, ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และข้อตกลงการค้าและเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม
  • ด้านสาธารณูปโภค
  • สนับสนุนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคที่เน้นคุณภาพ เพื่อลดช่องว่างด้านอุปสงค์และอุปทานทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการขยายตัวให้เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน และมีความสมดุล
  • สนับสนุนความโปร่งใส่ กระบวนการส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันในด้านสาธารณูปโภค โดยพิจารณาถึงมูลค่าของเม็ดเงินและคุณภาพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ