ตุรกีกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายอันรุนแรงในการต่อสู้กับการก่อการร้าย หลังเกิดเหตุโจมตีสนามบินที่เมืองอิสตันบูล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ตุรกีได้เผชิญกับเหตุก่อการร้ายไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้ก็ตาม
ทั้งนี้ กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งคร่าชีวิตประชาชน 36 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบ 150 คน
นายบินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีตุรกีเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากลุ่ม IS เป็นผู้ก่อเหตุ ณ สนามบินอตาเติร์กในเมืองอิสตันบูลเมื่อคืนวันอังคาร ทว่าความพยายามในการชี้ตัวผู้กระทำผิดยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
โดยมือระเบิดพลีชีพ 3 รายเดินทางมายังสนามบินด้วยรถแท็กซี่ และกราดยิงผู้คนแลลไม่เลือกหน้า ก่อนที่จะจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบิน ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย
นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับมือกับการก่อการร้าย รวมถึงให้คำมั่นว่าจะต่อกรด้วย "ความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน"
นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ออกมาให้คำมั่นว่า จะล้างบางการก่อการร้ายจนกว่าจะสิ้นซาก
หลังเกิดเหตุดังกล่าวทุกเที่ยวบินถูกเลื่อนออกไป ทางเข้า - ออก ถูกปิด และจะเปิดให้บริการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้
สถานการณ์ความปลอดภัยในตุรกีนั้นถดถอยลงในปีที่ผ่านมา โดยมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลายครั้งในอิสตันบูล เมืองหลวงอย่างกรุงอังการา รวมถึงเมืองอื่น ๆ ด้วย
ปีนี้ กลุ่ม IS อ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดพลีชีพที่เมืองอิสตันบูลเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 5 รายรวมผู้ก่อเหตุ รวมถึงเหตุระเบิดในกรุงอิสตันบูลเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ซึ่งคร่าชีวิตผู้คน 10 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวเยอรมัน 9 ราย
กลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด (TAK) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ที่เป็นกลุ่มนอกกฎหมายของตุรกี ก็ออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นหลายครั้งเช่นเดียวกัน
การโจมตีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้มีทั้งเหตุคาร์บอมบ์ที่อิสตันบูลเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ซึ่งพุ่งเป้าไปที่รถรับ - ส่งตำรวจปราบจลาจล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย หรือเหตุคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งคร่าชีวิตผู้คน 34 ราย อีกทั้งเหตุโจมตีรถตู้ทหารเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่มีผู้เสียชีวิต 29 ราย
หน่วยงานทางทหารเปิดเผยว่า เหตุก่อการร้ายในตุรกีซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งมิได้มีเพียงผู้ลงมือชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนในท้องถิ่นด้วย และนั่นอาจเป็นเพราะตุรกีชะล่าใจกับความรุนแรง และความซับซ้อนของกลุ่มต่อต้านการก่อการร้ายจนเกินไป
ตุรกีเป็นประเทศที่ถูกโจมตีด้านก่อการร้ายอย่างหนัก เนื่องจากตุรกีตั้งอยู่ในทวีปยูเรเซียใกล้กับประเทศที่มีความวุ่นวายอย่างอิรัก ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ และอิสราเอล
สื่อมวลชนรายงานว่า ตั้งแต่กลุ่ม IS เริ่มคุกคามพื้นที่ทางตอนเหนือของอิรัก และซีเรีย รวมถึงภูมิภาคต่าง ๆ ในแนวพรมแดนของตุรกี ประเทศตุรกีได้กลายมาเป็นสถานีส่งต่อผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงชาวต่างชาติจากที่ต่าง ๆ ซึ่งเดินทางมายังอิรักและซีเรียเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่ม IS
ยิ่งไปกว่านั้น ตุรกียังเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งน้ำมันเถื่อนของกลุ่ม IS ในการแสวงหาแหล่งทุนจำนวนมหาศาลในการนำมาใช้ปฎิบัติการก่อการร้าย
ตั้งแต่ปีที่แล้วซึ่งมีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นในประเทศหลายต่อหลายครั้ง ตุรกีได้ยกระดับการต่อกรกับผู้ก่อการร้ายยิ่งขึ้น
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ตุรกีสามารถจับกุมสมาชิก IS ไว้ทั้งหมด 961 ราย จาก 57 ประเทศ และภูมิภาค
นายอิฟคาน อาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตุรกี ระบุว่า ตุรกีได้สกัดผู้ต้องสงสัยที่อาจเป็นกลุ่ม IS หัวรุนแรง 36,000 รายเข้าประเทศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า มาตรการดังกล่าวอาจนำไปสู่การแก้แค้นจากองค์กรก่อการร้าย
นอกจากนี้ กองกำลังแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดในตุรกี อิหร่าน อิรัก และซีเรีย ซึ่งอ่อนแอลงอย่างมากจากการดำเนินการด้านต่าง ๆ ของตุรกี ก็มีความพยายามที่จะสร้างความวุ่นวายในตะวันออกกลางขึ้นอีกครั้งด้วยเช่นกัน
ประเทศตุรกีได้จัดตั้งหน่วยโจมตีทางทหารเพื่อต่อกรกับกลุ่มก่อการร้ายชาวเคิร์ด เพื่อป้องกันการขยายตัวของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลในภาคเหนือของซีเรียและอิรัก แต่การกระทำดังกล่าวได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงจากซีเรีย อิรัก และรัสเซีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย สำนักข่าวซินหัวรายงาน