บรรดารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศกลุ่ม G20 ซึ่งได้ประชุมร่วมกันที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้ "เครื่องมือทางนโยบายทั้งหมด" เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังจากที่อังกฤษได้ลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกประสบกับความผันผวนมากขึ้น จากเดิมที่เผชิญกับปัญหาด้านการก่อการร้ายและความท้าทายด้านอื่นๆอยู่แล้ว
ที่ประชุมระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวแต่ก็ "ยังถือว่าอ่อนแรงกว่าที่คาดหวังไว้" เนื่องจากตลาดเงินยังคงผันผวน เช่นเดียวกับปัญหาขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมือง ปัญหาการก่อการร้าย และผู้ลี้ภัย ซึ่งสร้างความซับซ้อนให้กับภาวะเศรษฐกิจ
"เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม เราจึงขอกล่าวย้ำที่จะใช้เครื่องมือด้านนโยบายทั้งหมด ไม่ว่าจะการคลัง การเงิน และโครงสร้าง ทั้งแยกเดี่ยวและโดยรวม" ที่ประชุม G20 ระบุในแถลงการณ์
"สมาชิกกลุ่ม G20 พร้อมเดินหน้ารับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเงินที่อาจเกิดขึ้น" อันเนื่องจากผลประชามติดังกล่าว โดยแถลงการณ์จากกลุ่ม G20 ระบุว่า ทางกลุ่มหวังว่าอังกฤษจะเป็น "พันธมิตรผู้ใกล้ชิด" กับสหภาพยุโรปต่อไปในอนาคต
ในแง่ของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรานั้น กลุ่ม G20 ได้ยืนยันคำเดิมว่าจะหลีกเลี่ยงการลดค่าเงินเพื่อหวังผลด้านการแข่งขันทางการค้า พร้อมเน้นย้ำว่า ความผันผวนที่มากเกินจำเป็นและความไร้ระเบียบในอัตราแลกเปลี่ยนนั้น อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน
สำหรับปัญหาทางโครงสร้าง กลุ่ม G20 มองว่า กำลังการผลิตส่วนเกินในอุตสาหกรรมบางส่วนได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการค้าและแรงงาน หลังจากที่ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินของจีนได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการค้ากลุ่ม G20 เมื่อช่วงต้นเดือนนี้
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 ประกอบด้วยอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สำนักข่าวเกียวโดรายงาน