คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของจีนขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 แต่การขยายตัวของแต่ละภูมิภาคนั้นไม่สอดคล้องกัน
NDRC ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของประเทศจีน เผยว่า ภาคตะวันตก ซึ่งด้อยพัฒนา มีอัตราขยายตัวรวดเร็วที่สุดที่ 8% สูงกว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของประเทศที่ 6.7% ส่วนภาคกลางและตะวันออกขยายตัว 7.8% และ 7.6% ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความล้าหลัง ขยายตัวเพียง 2.2%
ขณะเดียวกัน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันตกขยายตัว 13.5% และ 7.2% ตามลำดับ
ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ฉงชิ่งและทิเบต ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตก ขยายตัวมากที่สุดในบรรดามณฑลต่างๆ ของจีน โดยขยายตัวถึง 10.6%
อย่างไรก็ตาม ในมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งผลิตเหล็กกล้าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเศรษฐกิจหดตัว 1% ในช่วงครี่งปีแรก จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นมณฑลเดียวที่รายงานเศรษฐกิจหดตัว
เหลียวหนิงเป็นมณฑลลำดับท้ายๆ ใน 31 มณฑลของจีนที่ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยยังเหลือเฮยหลงเจียง มณฑลอุตสาหกรรมทางตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวระดับมณฑลที่ไม่สมดุลกัน ในขณะที่จีนพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากเดิมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ไปเป็นขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายในประเทศ
เศรษฐกิจของจีนขยายตัว 6.7% ในไตรมาสสอง โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดที่อยู่อาศัย และการปล่อยกู้ของธนาคาร แม้อัตราขยายตัวไตรมาสสองจะเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดของจีนนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของรัฐบาลที่ 6.5-7% ในปี 2559
เพื่อเป็นการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ NDRC ได้แนะนำให้ใช้เครื่องมือนโยบายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภาคเอกชนแทนการใช้จ่ายของภาครัฐ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีส่วนสนับสนุน GDP ของจีนถึงราว 60% และการจ้างงานราว 80% อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคเอกชนชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้นเพียง 2.8% ในครึ่งปีแรก เทียบกับที่ขยายตัว 3.9% ในช่วงห้าเดือนแรก ซึ่งทรุดลงอย่างมากจากที่ขยายตัวสูงกว่า 20% ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา