บทวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ในเครือของธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ระบุถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ทางธนาคารกลางอาจมีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความใหม่มากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การเสริมสภาพคล่อง แทนที่มาตรการเดิมๆที่ปกติมักเลือกใช้ เช่น การปรับลดดอกเบี้ย และสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR)
เครื่องมือเสริมสภาพคล่องที่ว่านี้ ได้แก่โครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 2557 เพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเชิงนโยบายในการดูแลสภาพคล่อง โดยให้สถาบันการเงินเหล่านี้สามารถกู้ยืมจากธนาคารกลางได้โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่นเดียวกับโครงการเงินกู้ระยะสั้น (SLF) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนสภาพคล่องสำหรับสถาบันการเงินท้องถิ่น
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การปรับลดดอกเบี้ยและ RRR หากทำบ่อยเกินควรแล้วอาจทำให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องมากเกินไป จนก่อให้เกิดการคาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลง โดยจะยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงครึ่งปีหลัง
แบงก์ชาติเปิดเผยว่า จะยังคงดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่น และดำเนินการปรับเปลี่ยนเมื่อถึงเวลาสมควร
แบงก์ชาติจะใช้เครื่องมือด้านนโยบายที่หลากหลายเพื่อรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอ ขณะที่ให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม และปรับปรุงการปรับโครงสร้างทางการเงิน และลดต้นทุนการระดมทุนในตลาด