ผลการวิจัยจากสถาบันในนิวซีแลนด์และสหรัฐชี้ว่า ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการบิดเบือนตัวเลขการตรวจจับมลพิษจากไอเสียของรถยนต์จากบริษัทโฟล์คสวาเกนทำให้ตลาดการเงินโลกมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากตลาดเงินเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนรายย่อยรับทราบมากขึ้น
ผลจากวิจัยของศาสตราจารย์เดวิด ลอนท์ จากมหาวิทยาลัยโอทาโก และศาสตราจารย์พอล กริฟฟิน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ข่าวฉาวที่เกิดขึ้นนั้นได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลให้ตลาดการเงินต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานไปจากเดิม
เมื่อปีที่แล้ว ข่าวเรื่องการบิดเบือนข้อมูลค่าไอเสียที่เกิดขึ้นส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทหายไปหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งบีบให้นายมาร์ติน วินเทอร์คอร์น ซีอีโอของโฟล์คสวาเกน กรุ๊ป ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยโฟล์คสวาเกนต้องจ่ายค่าปรับเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา
หลังจากนั้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เจ้าอื่นๆก็ถูกขุดคุ้ยเกี่ยวกับประเด็นการโกงค่าไอเสียในรถยนต์โดยสารไปตามๆกัน
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนและตลาดเงินไม่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับคดีการโกงไอเสียของโฟล์คสวาเกนล่วงหน้าได้ แม้องค์กรที่มีชื่อเสียงหลายแห่งได้เริ่มเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการตั้งข้อสงสัยการโกงไอเสียของโฟล์คสวาเกนตั้งแต่ปี 2556 และ 2557 แล้วก็ตาม สำนักข่าวซินหัวรายงาน