นักวิเคราะห์ระบุเตือนว่า ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่กำลังรุมเร้าธนาคารดอยซ์แบงก์ในขณะนี้ หากรัฐบาลของนางอังเกรา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ตัดสินใจเข้าช่วยเหลือดอยซ์แบงก์ ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากยูเรเซีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง ออกรายงานระบุว่า "ผู้ที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลเยอรมันจะเข้าช่วยเหลือทางการเงินต่อดอยซ์แบงก์นั้น มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อกฎการช่วยเหลือธนาคารของสหภาพยุโรป, การเมืองในเยอรมนี และสถานะเงินทุนของดอยซ์แบงก์"
รายงานระบุว่า รัฐบาลเยอรมันไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าช่วยเหลือดอยซ์แบงก์ เนื่องจากจะไม่ส่งผลดีทางการเมืองต่อนางแมร์เคิล ซึ่งอาจลงสมัครเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยในปีหน้า โดยขณะนี้รัฐบาลได้สูญเสียฐานเสียงจำนวนมากอยู่แล้ว จากการที่ชาวเยอรมันไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในการรับผู้อพยพเพิ่มขึ้น
การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อเข้าอุ้มดอยซ์แบงก์นั้น จะเป็นการทำให้ชาวเยอรมันหันไปลงคะแนนเสียงให้กับพรรค Alternative for Germany (AfD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน
ยูเรเซีย กรุ๊ป ระบุว่า เจ้าหนี้ของดอยซ์แบงก์ควรแบกรับภาระขาดทุน ก่อนที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าช่วยเหลือธนาคาร ซึ่งเป็นไปตามกฎการช่วยเหลือธนาคารของสหภาพยุโรป
ก่อนหน้านี้ Die Zeit ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของเยอรมันรายงานว่า รัฐบาลเยอรมันและสถาบันการเงินหลายแห่งกำลังเตรียมแผนให้ความช่วยเหลือดอยซ์แบงก์ หากทางธนาคารไม่สามารถระดมทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในกระบวนการทางกฎหมาย หลังถูกทางการสหรัฐสั่งปรับ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์
หนังสือพิมพ์ดังกล่าวระบุว่า ในกรณีฉุกเฉิน รัฐบาลเยอรมันอาจเข้าถือหุ้น 25% ในธนาคาร
ทางด้านนายจอห์น ไครอัน ซีอีโอของดอยซ์แบงก์ เปิดเผยว่า ตนเองไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินทุน
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้สั่งปรับดอยซ์แบงก์เป็นเงิน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินโลกในปี 2551