อนา เรเวนกา ผู้อำนวยการอาวุโสประจำฝ่ายปฏิบัติการด้านความยากจนและคุณภาพชีวิตของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่า ความสำเร็จของรัฐบาลจีนในการบรรเทาปัญหาความยากจนนั้นส่งผลให้มีปัญหาความยากจนลดลงทั่วโลก โดยจีนอาจเป็นประเทศตัวอย่างสำหรับทั้งโลกในการยุติความยากจนข้นแค้น
ผู้อำนวยการอาวุโสได้แถลงผ่านการประชุมทางไกล ขณะที่นำเสนอรายงาน Poverty and Shared Prosperity 2016 ว่า "ความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนทั่วโลกส่วนใหญ่นั้น แท้จริงแล้วได้รับแรงขับเคลื่อนจากความสำเร็จของจีน ที่ได้ช่วยลดความยากจนได้อย่างเหลือเชื่อ"
รายงานฉบับใหม่ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวานนี้ ระบุว่า ในปี 2556 นั้นมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันมากเกือบ 800 ล้านคน โดยมีประชากรที่มีรายได้ต่ำมากลดลงประมาณ 100 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2555
รายงานดังกล่าวระบุว่า ระหว่างปี 2533-2556 ประชากรที่มีรายได้ต่ำมากได้ปรับตัวลดลงจาก 35% เหลือเพียงไม่ถึง 11% เมื่อเทียบกับทั้งโลก
ความก้าวหน้าในการลดจำนวนคนยากจนนั้นได้รับแรงขับเคลื่อนหลักๆจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย
รายงานดังกล่าวยังพบว่า สำหรับ 34 ประเทศจากทั้งหมด 83 ประเทศที่ได้ทำการสำรวจนี้ ช่องว่างด้านรายได้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายได้ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มประชากรร่ำรวย 60% แรก เมื่อเทียบกับอีก 40% ที่เหลือ แม้ว่าความไม่เสมอภาคในประเทศนั้นได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายๆประเทศนับตั้งแต่ปี 2551
ทั้งนี้ ทางธนาคารโลกได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆหันมาออกนโยบาย เช่น การศึกษาวัยเด็กตอนต้น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า การมอบเงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่ยากจน เพื่อส่งเสริมการเติบโตและเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน