ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเติบโตคงที่ปี 2559-2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2016 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระหว่างปีพ.ศ. 2559-2561 โดยคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้จะยังคงเติบโตในระดับปานกลางตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี เวิลด์แบงก์ระบุในรายงานด้วยว่า ภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และประเทศต่างๆ จะต้องมีมาตรการในการลดความเปราะบางด้านการเงินและการคลังในระยะยาว รายงานฉบับนี้เสนอให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน รวมถึงการอุดช่องว่างด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลดภาวะทุพโภชนาการ และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง

รายงาน East Asia and the Pacific Economic Update ฉบับล่าสุดนี้ คาดการณ์ว่า จีนจะยังคงดำเนินการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เติบโตช้าลง แต่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ 6.7% และชะลอตัวลงเป็น 6.5% ในปี 2560 และ 6.3% ในปี 2561 รายงานคาดการณ์ว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเติบโตที่ 4.8% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปี 2560 และ 5.1% ในปี 2561 โดยรวมแล้วคาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเติบโตที่ 5.8% ในปี 2559 และ 5.7% ในปีพ.ศ. 2560-2561

“แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงเป็นบวก แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์จากภายนอกจะยังคงอ่อนแอ แต่การบริโภคและการลงทุนในประเทศมีความเข้มแข็ง" นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ความท้าทายในระยะยาวคือการทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจยั่งยืนและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง รวมถึงการลดช่องว่างเรื่องรายได้และการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งภูมิภาค การลดภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่ยังคงมีอยู่ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการการเงินอย่างทั่วถึง"

รายงานฉบับนี้ยังได้นำเสนอผลการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกอย่างครอบคลุมทุกด้าน ภายใต้ความท้าท้ายของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมถึงภาวะเศรษฐกิจซบเซาในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และภาวะชะงักงันของการค้าโลก รายงานนี้คาดการณ์ว่าการบริโภคภายในประเทศจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ประเทศที่นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จะได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคที่อยู่ในระดับต่ำ

เศรษฐกิจของจีนจะยังคงเติบโตในระดับปานกลางเนื่องจากการปรับสมดุลย์โครงสร้างเศรษฐกิจสู่การบริโภค การบริการ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง และจากการปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การตึงตัวของตลาดแรงงานจะช่วยสนับสนุนการเติบโตด้านรายได้และการบริโภคจากภาคเอกชน

ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะแข็งแกร่งที่สุดโดยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 6.4% ในปีนี้ ในขณะที่เวียดนาม ซึ่งเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรงในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตที่ 6.3% ในปี 2560 สำหรับอินโดนีเซียคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 4.8% ในปี 2558 เป็น 5.5% ในปี 2561 หากอินโดนีเซียยังคงลงทุนในโครงการลงทุนของภาครัฐ และประสบความสำเร็จในความพยายามปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและเพิ่มรายได้ต่อไป สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียนั้น คาดว่าจะลดลงจาก 5% ในปีผ่านมา เป็น 4.2% ในปี 2559 นี้ เนื่องจากความต้องการน้ำมันของโลกและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กกว่ากลุ่มที่แล้ว รายงานคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มประเทศส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของมองโกเลียปีนี้จะเติบโตเพียง 0.1% จาก 2.3% เมื่อปี 2558 อันเนื่องมาจากการส่งออกแร่ที่อ่อนตัวลงและความพยายามในการควบคุมหนี้สาธารณะ ในขณะที่ปาปัวนิวกินี คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 2.4% ในปี 2559 ลดลงจาก 6.8% ในปี 2558 ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของระดับราคาและผลผลิตจากทองแดงและก๊าซธรรมชาติเหลว ขณะที่เศรษฐกิจในกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ยังคงเติบโตอย่างสดใส

“นอกเหนือจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในด้านบวกแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเงินโลกที่อาจตึงตัวอย่างฉับพลัน เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวเพิ่มขึ้น หรือการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเร็วเกินไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ ล้วนเป็นบททดสอบความสามารถในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ต้องปรับตัวรับมือ" นายชูเดีย แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ความไม่แน่นอนเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายจะต้องดำเนินการลดความไม่สมดุลย์ทางการเงินและการคลังซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้"

สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนสำหรับภูมิภาคนี้ คือการเร่งดำเนินการปฏิรูปภาคธุรกิจและการควบคุมยอดการปล่อยกู้ของธนาคารในจีน การลดการสร้างความเสี่ยงทางการเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การรักษากันชนด้านการคลังและการขยายแหล่งรายได้ของภาครัฐในทุกประเทศทั่วภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ มองโกเลีย และ ติมอร์เลสเต ควรให้ความสำคัญเรื่องความเสี่ยงในด้านความมั่นคงทางการคลัง

ในระยะยาว รายงานนี้ได้เน้นความสำคัญกับมาตรการทางนโยบาย 4 ประการ ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ประการแรก เสนอให้จีนยังคงนโยบายลดความยากจนผ่านการเพิ่มการเข้าถึงบริการพื้นฐานของภาครัฐให้แก่ประชาชนในชนบท และการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานจากชนบทสู่เมืองต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ความยากจนลดลงได้เป็นผลสำเร็จ

ประการที่สอง ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องลดช่องว่างในด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยการปรับสมดุลย์ของการใช้จ่ายภาครัฐ เพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการลงทุนภาครัฐ

ประการที่สาม รายงานเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับภาวะทุพโภชนาการที่ยังคงมีอยู่ทั่วภูมิภาค หลายประเทศยังมีเด็กที่มีภาวะโภชนาการต่ำแม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและการรับรู้ที่บกพร่องและไม่สามารถแก้ไขได้อีกเมื่อเด็กเติบโตขึ้น รายงานแนะนำมาตรการที่ประสานสอดคล้องกันในด้านต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการเข้าแทรกแซงโดยการให้ธาตุอาหารเสริม

ประการสุดท้าย รายงานนี้ได้แนะนำว่าประเทศต่างๆ ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเปลี่ยนรูปแบบบริการทางการเงินและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีซึ่งมีการใช้โทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง แต่กลับยังขาดการเข้าถึงบริการทางการเงิน ประเทศต่างๆ จึงควรจะสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎระเบียบและปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลประโยชน์จากนวัตกรรมทางการเงินอย่างเต็มที่

East Asia and Pacific Update เป็นรายงานของธนาคารโลกที่ศึกษาทบทวนเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างครบถ้วน รายงานนี้จัดพิมพ์ปีละ 2 ครั้งและสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.worldbank.org/eapupdate


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ