นักเศรษฐศาสตร์ชี้นโยบาย "ทรัมป์" ดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐแต่อาจเป็นปัญหาสำหรับตลาดเกิดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2016 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษศาสตร์ของธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย คาดว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหัฐ (เฟด) จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ และการกีดกันทางการค้าอาจจะเป็นปัญหาในระดับโลก

นักเศรษศาสตร์ดังกล่าวคาดว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐของทรัมป์ จะดำเนินการผ่านทางการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายด้านทุน ในขณะที่มีการเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมๆกัน

นายไมเคิล ไบลธ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย ระบุว่า "การเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยชดเชยปัจจัยลบอื่นๆในเศรษฐกิจ และในระยะยาว เรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสหรัฐ"

"การใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยกระตุ้นประสิทธิภาพด้านการผลิตและรายได้ของสหรัฐในระยะยาว" เขากล่าว

แต่อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและการแข็งค่าของดอลลาร์เนื่องจากคาดการณ์เกี่ยวกับการไหลกลับของเงินทุนอาจจะกระตุ้นความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินในประเทศตลาดเกิดใหม่ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2559 โดยเฉพาะในประเทศเอเชียที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย

แต่ความเสียหายร้ายแรงที่สุดที่เป็นไปได้ก็คือ ข้อเสนอในเรื่องการกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์ หากมีการผลักดันให้นำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ นายไบลธ์กล่าว โดยระบุว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นมาตรการที่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งอย่างน้อยก็ไม่น่าจะบังคับใช้เต็มที่

นายไบลธ์แสดงความวิตกว่า สงครามค่าเงินและสงครามการค้าอาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากหลายประเทศต้องการที่จะปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศ แรงกดดันจากเงินฝืดระลอกใหม่จะค่อยๆก่อตัวขึ้น เนื่องจากจะยังคงมีการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง แต่จะไหลไปยังตลาดอื่นๆที่มีสินค้าราคาต่ำกว่าในสหรัฐ

การจับตาดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเอเชียจะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับออสเตรเลีย เนื่องจากออสเตรเลียเผชิญกับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจในเอเชียมากกว่าการขยายตัวของกิจกรรมในสหรัฐ นายไบลธ์กล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ