ศาลฎีกาอังกฤษเริ่มไต่สวนกรณีรัฐบาลยื่นอุทธรณ์กระบวนการ Brexit โดยไม่ต้องผ่านมติสภา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 5, 2016 19:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักรได้เริ่มการไต่สวนคดีประวัติศาสตร์ในเช้าวันนี้ เพื่อตัดสินชี้ขาดว่ารัฐบาลอังกฤษจะสามารถเริ่มต้นกระบวนการ Brexit โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของรัฐสภาได้หรือไม่

กลุ่มผู้ประท้วงจากทั้งสองฝั่ง คือฝั่งที่สนับสนุนให้อังกฤษออกจาก EU และฝั่งที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับ EU ต่อไป ต่างพากันออกมาชุมนุมกันที่จตุรัสรัฐสภา ก่อนที่ศาลฎีกาโดยคณะผู้พิพากษาเต็มคณะทั้ง 11 คน จะเริ่มต้นการไต่สวนคดีความดังกล่าวเป็นเวลา 4 วัน

รัฐบาลอังกฤษซึ่งนำโดยนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมีอำนาจที่จะเริ่มต้นกระบวนการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปด้วยการใช้มาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ประเทศสมาชิกจะถอนตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการ

ด้านกลุ่มสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปอ้างว่า การที่รัฐบาลจะเริ่มต้นกระบวนการ Brexit โดยไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภานั้นเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดี นางเมย์ระบุว่า ผลการทำประชามติเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องได้รับมติเห็นชอบจากรัฐสภา

นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องการที่จะบังคับใช้มาตรา 50 เพื่อเริ่มกระบวนการเจรจากับสหภาพยุโรปภายในเดือนมี.ค. ปีหน้า แต่ศาลสูงได้มีคำตัดสินในเดือนที่แล้วว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องผ่านมติของสภา รัฐบาลอังกฤษจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักร โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลต้องเคารพผลการทำประชามติ

ทั้งนี้ หากศาลฎีกายืนยันคำตัดสินของศาลสูง ก็หมายความว่ารัฐสภาจะต้องมีส่วนร่วมในแผนการถอดถอนอังกฤษออกจาก EU โดยกลุ่มผู้สนับสนุนของนางเมย์กลัวว่า บรรดานักการเมืองอาจอาศัยกระบวนการดังกล่าวเพื่อทำให้การถอนตัวออกจาก EU ของอังกฤษต้องล่าช้าออกไป หรืออาจถึงกับล้มคว่ำ แม้ผลการลงประชามติเมื่อวันที 23 มิ.ย.ชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษออกจาก EU ก็ตาม

ในทางกลับกัน หากคณะผู้พิพากษา ซึ่งจะประกาศคำตัดสินในเดือนม.ค.ปีหน้า เห็นชอบกับรัฐบาล ก็จะเป็นการปูทางให้นางเมย์สามารถเริ่มต้นกระบวนการ Brexit โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ