ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้นร่วงลงมาตั้งแต่ที่รัฐบาลได้เริ่มใช้มาตรการคุมเข้ม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า จีนจะดำเนินมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อสกัดภาวะฟองสบู่ในปีนี้ โดยสถาบัน China Index Academy ซึ่งเป็นสถาบันด้านการวิจัยอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในจีนปรับตัวลงไป 36.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนในช่วงเดือนม.ค. ในแง่ของพื้นที่ และเมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดขายร่วงลงไป 27.3% ในเดือนม.ค. ขณะที่ยอดขายในกรุงปักกิ่งและเสิ่นเจิ้นปรับตัวลงไปเกือบ 50%
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ในกรุงปักกิ่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนองสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และเมื่อวันที่ 19 ม.ค. มณฑลเสิ่นเจิ้นก็ได้กำหนดราคาบ้านใหม่ไว้ในระดับเท่ากับราคาบ้านโดยเฉลี่ยที่ได้มีการจำหน่ายในเมืองที่ตั้งอยู่ข้างเคียงกัน ส่วนเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เมืองฉงชิ่งก็ได้คุมเข้มด้านนโยบายเช่นกัน
"บ้านถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร" คำกล่าวที่ว่านี้มาจากผู้บริหารจากรัฐบาลกลางที่กล่าวไว้ในการประชุม Central Economic Work Conference เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งข้อความดังกล่าวได้มีการระบุไว้ในรายงานประจำปีของหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ด้วยเช่นกัน นอกเหนือไปจากมาตรการต่างๆที่ได้มีการนำมาใช้ตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว เมืองต่างๆในจีนได้ประกาศเพดานการซื้อ และคุมเข้มกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อเพื่อการจำนองด้วยเช่นกัน ภายหลังจากที่ได้ผ่อนปรนนโยบายมาเป็นเวลาถึง 2 ปี ด้วยการเริ่มการผ่อนปรนกฎเกณฑ์การซื้อเมื่อปี 2557
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวนั้นยังคงเกิดขึ้นในบางพื้นที่เท่านั้น ในพื้นที่ที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจก็จะมีการรายงานตัวเลขราคาที่สูงขึ้น ส่วนพื้นที่ที่มีการพัฒนาน้อยกว่าก็จะมีการรายงานตัวเลขสต็อกบ้านที่ยังไม่สามารถจำหน่ายได้จำนวนมหาศาล ในขณะที่ผู้บริหารระดับนโยบายเองก็พยายามที่จะลดปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยให้กับกลุ่มคนที่คาดว่าจะซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร เพื่อควบคุมภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ในปี 2560 พร้อมกับเรียกร้องให้มีการใช้กลไกตลาดและกลไกระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการลงทุน ด้านข้อกฎหมาย และเครื่องมือด้านการคลัง ในเมืองต่างๆที่ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องมีที่ดินสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น ในขณะที่การลดปริมาณบ้านคงค้างจะยังคงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินต่อไปในเมืองที่มีขนาดเล็กกว่า
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังจากที่ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อโครงการเงินกู้ระยะสั้น (SLF) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์มองว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ และยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ประชุม Central Economic Work Conference ระบุว่า ในปี 2560 จีนจะควบคุมอุปทานเงินในระดับมหภาค ในขณะที่นโยบายสินเชื่อระดับมหภาคนั้นควรที่จะสนับสนุนการซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัยอย่างสมเหตุสมผล รวมทั้งการควบคุมสินเชื่อเพื่อป้องกันการเก็งกำไรอย่างเข้มงวด หากจุดยืนด้านการเงินโดยรวมยังคงเข้มงวดต่อไป ก็อาจจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงในสภาพแวดล้อมทางการเงินของจีนก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงอีก
ทางการจีนได้ใช้มาตรการเข้มงวดทั้งเรื่องการควบคุมการเก็งกำไรและราคาบ้านที่สูงเกินจริง ตลอดจนใช้มาตรการหนักหน่วงกับภาคธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันการขยายตัวที่สำคัญแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังก่อให้เกิดความผันผวนด้วยเช่นกัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีส่วนอย่างมากในการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าตลาดมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศขนาดใหญ่รายอื่นๆ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ผลการสำรวจเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลาง 70 เมืองพบว่า ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ในเมือง 46 เมืองปรับตัวสูงขึ้นในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากจำนวนเมือง 55 เมืองในช่วงเดือนพ.ย. และ 62 เมืองในช่วงเดือนต.ค. ส่วนราคาที่อยู่อาศัยประจำเดือนม.ค.สำหรับเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางนั้น จะมีการเปิดเผยในวันที่ 22 ก.พ.นี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน