บริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่นได้แจ้งให้สหภาพแรงงานทราบว่า พวกเขาจะทำการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราถดถอยติดต่อกันเป็นปีที่สอง สืบเนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ภาคธุรกิจปรับเพิ่มค่าแรงให้กับพนักงานอย่างน้อยในอัตราเดียวกับปีก่อน ซึ่งถือเป็นความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนำพาญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทหลายแห่งต่างมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับท่าทีกีดกันทางการค้าของรัฐบาลใหม่สหรัฐ
ผู้ผลิตยานยนต์ของญี่ปุ่นถูกบีบให้ต้องทบทวนแผนการดำเนินงานในอเมริกาเหนือใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากที่ปธน.ทรัมป์ได้วิจารณ์ว่า การค้ารถยนต์ระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นนั้น "ไม่เป็นธรรม" พร้อมกับขู่ด้วยว่า เขาจะใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้านำเข้า เช่น รถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกและประเทศอื่นๆ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สหภาพแรงงานของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้เรียกร้องให้ต้นสังกัดปรับขึ้นฐานเงินเดือนอีก 3,000 เยน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้เสนอขึ้นค่าแรงให้เพียงเดือนละ 1,300 เยน จากที่เคยปรับขึ้นเงินเดือน 1,500 เยนในปีที่แล้ว ขณะที่เมื่อรวมกับเงินสงเคราะห์ดูแลบุตรแล้ว ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นรวม 2,400 เยน
ในเดือนม.ค. ปธน.ทรัมป์ได้ตอบโต้แผนการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในเม็กซิโก ด้วยการทวีตข้อความลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า โตโยต้าควรพิจารณาสร้างโรงงานในสหรัฐแทน มิเช่นนั้นแล้ว โตโยต้าอาจต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากนั้น โตโยต้าก็ได้ประกาศแผนการลงทุนในสหรัฐวงเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า