การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G20 ที่ประเทศเยอรมนี ได้ดำเนินเข้าสู่วันที่ 2 ในวันนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึม สืบเนื่องจากความวิตกกังวลของประเทศต่างๆเกี่ยวกับการขยายตัวของกระแสการเมืองแนวประชานิยม ตลอดจนข้อครหาในประเด็นการลดค่าเงินในประเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่ม G20 ได้ประชุมร่วมกัน นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งพร้อมกับชูสโลแกน "อเมริกาต้องมาก่อน" รวมไปถึงการแสดงท่าทีกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความวิตกให้กับบรรดาผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆเป็นอย่างมาก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ในปีนี้ จากที่ขยายตัว 3.1% ในปี 2559 ด้วยแรงขับเคลื่อนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม บางประเทศ รวมถึงกองทุน IMF ต่างก็วิตกว่า การขยายตัวของนโยบายกีดกันทางการค้า จะเป็นสัญญาณบั่นทอนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ขณะที่นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ได้ใช้เวทีการประชุม G20 ครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความพยายามในการนำพาญี่ปุ่นหลุดพ้นออกจากภาวะเงินฝืด โดยการเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุกและนโยบายการคลังที่มีความยืดหยุ่นต่อไป
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าจับตาในที่ประชุม G20 ครั้งนี้ก็คือ การปรากฏตัวครั้งแรกของนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ G-20 ต่างก็คาดหวังที่จะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อคลี่คลายข้อกังขาเกี่ยวกับนโยบายการค้าและนโยบายอื่นๆของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐ
ทั่วโลกต่างให้ความสนใจด้วยว่า ที่ประชุม G20 ของบรรดาขุนคลังและผู้ว่าฯแบงก์ชาติครั้งนี้ จะสามารถบรรลุข้อตกลงฟื้นฟูความร่วมมือในการต่อต้านนโยบายกีดกันการค้าในทุกรูปแบบได้หรือไม่ ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้นำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และประกาศกร้าวด้วยว่า จะผลักดันการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ "นาฟต้า" ใหม่อีกครั้ง ภายใต้กติกาใหม่ โดยการเจรจาแบบทวิภาคี ไม่ใช่พหุภาคีอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายทรัมป์ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้มาตรการจัดเก็บภาษีโดยพิจารณาจากแหล่งที่มาของสินค้า โดยเฉพาะกับบรรดาประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐเป็นจำนวนมาก เช่น จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของนายทรัมป์ โดยย้ำว่า นโยบายผ่อนคลายการเงินของ BOJ นั้น มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดในประเทศ ไม่ใช่การจงใจลดค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าแต่อย่างใด
ขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวกับผู้สื่อข่าวโดยมองในแง่ดีว่า "ผมเชื่อว่า พวกเราต่างก็มีมุมมองที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการส่งเสริมและคงไว้ซึ่งการค้าเสรี โดยแนวคิดดังกล่าวยังไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง"
ทั้งนี้คาดว่าคณะผู้แทนของกลุ่ม G20 จะออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้
กลุ่มประเทศ G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐ และสหภาพยุโรป สำนักข่าวเกียวโดรายงาน