บรรดารัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าที่หลายประเทศกำลังนำมาใช้เพิ่มขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ พร้อมให้คำมั่นว่าจะพยายามปกป้องการค้าเสรี
นายปิแอร์ กราเมกนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของลักเซมเบิร์กกล่าวว่า "เรามีความเห็นสอดคล้องกันมาหลายทศวรรษแล้วว่าการค้าแบบเปิดกว้างเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกประเทศ"
ทั้งนี้ สมาชิกอียูต่างก็กังวลว่ามติที่เป็นเอกฉันท์ที่มีมาอย่างยาวนานในเรื่องการค้าเสรีจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวาทกรรมทางการเมืองของรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นการต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้า
นายกราเมกนาได้ให้เหตุผลถึงเรื่องดังกล่าวว่า การกลับไปใช้นโยบายกีดกันทางการค้าจะทำลายความมั่งคั่งที่มาจากการค้าเสรี และทำลายห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศ
ขณะที่นายคริสเตียน เจนเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลังของเดนมาร์กกล่าวว่า "ยุโรปมีความมั่งคั่งจากการค้าขายทั่วโลก หากห่วงโซ่การค้าถูกทำลาย เราจะได้เห็นบริษัทต่างๆพังทลายลง และงานก็จะหายไป"
นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงความล้มเหลวของการประชุม G20 ว่า "คำสัญญาที่เรามอบให้แก่กันมาตั้งแต่อดีตได้ถูกทำลายลงโดยรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ผมกังวลว่าเราจะต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อรักษาการค้าเสรีในยุโรปเอาไว้"
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการต่อต้านกระแสดังกล่าว รัฐมนตรีคลังของอียูได้ประชุมร่วมกันที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ร่วมกันต่อสู้เพื่อการเปิดกว้างทางการค้า
โดยนายวาลดีส โดมโบรฟสกีส์ กรรมาธิการด้านการเจรจาทางสังคมของสหภาพยุโรประบุว่า สหภาพยุโรปยังยืนยันที่จะให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศและต้องการให้มีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไป สำนักข่าวซินหัวรายงาน