ประวัติศาสตร์การเมืองตุรกีดำเนินมาถึงจุดพลิกผันสำคัญนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งรัฐชาติสมัยใหม่เมื่อ 94 ปีที่แล้ว หลังผลการนับคะแนนประชามติเบื้องต้น บ่งชี้ว่า ชาวตุรกีจำนวน 51.35% ที่ออกมาในสิทธิ์นั้น ได้สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดี ขณะที่ 48.65% ไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่มีการโหวตแก้ไขมีทั้งสิ้น 18 มาตรา โดยบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงเป็นวงกว้างก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารปกครองประเทศโดยปูทางให้มีการใช้ระบอบประธานาธิบดีที่มีอำนาจเต็มที่ แทนระบบรัฐสภาเดิมที่ใช้มาตั้งแต่การประกาศสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีในปี 2466 เป็นต้นมา
สื่อต่างประเทศระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเปิดทางให้ทำเนียบประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น ขณะเดียวกันการถูกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจโดยฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการก็ทำได้ยากขึ้น ซึ่งส่งผลให้พรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรครีพับลิกัน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (CHP) และพรรคพีเพิลส์ เดโมเครติก ซึ่งสนับสนุนกลุ่มชาวเคิร์ด ออกมาคัดค้านอย่างหนัก โดยพรรค CHP ได้เรียกร้องให้มีการนับคะแนนประชามติใหม่อีกครั้ง
ขณะที่สถานการณ์ในตุรกีเกิดความตึงเครียดขึ้น เนื่องจากประชาชนที่โหวตคัดค้านได้ออกมาชุมนุมเดินขบวนประท้วงตามสถานที่ต่างๆในนครอิสตันบูล
อย่างไรก็ตาม ตุรกียังไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ระบอบประธานาธิบดีได้ในทันที แต่ต้องรอจนถึงปี 2562 เมื่อประธานาธิบดีเรเซพ ตอยยิป เออร์โดกัน ดำรงตำแหน่งครบวาระ และมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาแล้ว
ประธานาธิบดีเออร์โดกันได้ออกมาประกาศชัยชนะหลังจากผลการนับคะแนนเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ประชาชนได้ลงมติสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเขาได้แถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ตุรกีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านการลงประชามติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งประชาชนที่โหวตสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีจำนวนมากถึง 25 ล้านคน สูงกว่ากลุ่มผู้ไม่สนับสนุนที่มีอยู่เพียง 1.3 ล้านคน
"วันนี้ชาวตุรกีได้ร่วมกันตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการลงประชามติเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารประเทศ" ปธน.เออร์โดกันกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่างๆที่เป็นพันธมิตรกับตุรกี ยอมรับการตัดสินใจของประชาชนชาวตุรกีในครั้งนี้
นอกจากนี้ ปธน.เออร์โดกันได้ประกาศต่อบรรดาผู้สนับสนุนว่า ภารกิจแรกของเขาภายหลังจากที่ได้รับชัยชนะในประชามติครั้งนี้ก็คือ การเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการนำโทษประหารชีวิตกลับมาบังคับใช้ในประเทศอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดลงประชามติในเรื่องนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ รัฐบาลตุรกีพยายามรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตนับตั้งแต่ที่กองทัพตุรกีประสบความล้มเหลวในการก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลงเออร์โดแกนเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว โดยรัฐบาลปักใจเชื่อว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้คือนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาอิสลาม ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐ