ขุนคลังสหรัฐค้านนโยบายแยกกิจการธนาคารพาณิชย์กับวาณิชธนกิจรายใหญ่ในสหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 19, 2017 09:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า เขาไม่สนับสนุนให้มีการแยกกิจการของธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐ

นายมนูชิน กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐ ว่า "เราไม่สนับสนุนให้มีการแยกกิจการวาณิชธนกิจออกจากธนาคารพาณิชย์ เพราะเราคิดว่าจะเกิดปัญหาใหญ่กับตลาดเงิน เศรษฐกิจสหรัฐ และสภาพคล่อง"

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐเปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาที่จะรื้อฟื้นกฎหมายภาคธนาคารฉบับเก่าที่เรียกว่า "กลาส-สตีกัลล์" (Glass-Steagall Act)" ที่เคยบังคับใช้ในปี 1933 เนื่องจากต้องการให้มีการแยกกิจการระหว่างวาณิชธนกิจกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในวอลล์สตรีท

อย่างไรก็ตาม นายมนูชิน ระบุว่า การทำเช่นนั้นอาจเป็น "ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง"

ทั้งนี้ กฎหมายกลาส-สตีกัลล์ ถูกยกเลิกในปี 1999 เพื่อผ่อนคลายกฎระเบียบภาคการเงินที่เข้มงวดของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายได้ตำหนิว่า การยกเลิกกฎหมายกลาส-สตีกัลล์ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตการเงินในปี 2008

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกลาส-สตีกัลล์ เพื่อนำกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง แต่ในเวลานั้น เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของนโยบายแต่อย่างใด

ขณะที่นายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว เคยกล่าวในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลของทรัมป์จะยังไม่นำเสนอร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน

"ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว" นายสไปเซอร์ กล่าว

ด้านวุฒิสมาชิก เอลิซาเบธ วอร์เรน จากพรรคเดโมแครต ได้แสดงความกังขาว่า "รัฐบาลทรัมป์จะสามารถผลักดันกฎหมายกลาส-สตีกัลล์ ฉบับศตวรรษที่ 21 โดยที่ไม่ให้แยกกิจการระหว่างธนาคารพาณิชย์กับวาณิชธนกิจได้อย่างไร เนื่องจากการแยกกิจการของธนาคารถือเป็นหัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ