รัฐมนตรีจาก 11 ประเทศสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เห็นพ้องที่จะเดินหน้าผลักดันข้อตกลง TPP ให้สามารถมีผลบังคับใช้ แม้สหรัฐจะถอนตัวออกไปก็ตาม
แถลงการณ์จากที่ประชุมระบุว่า "การผลักดันข้อตกลง TPP จะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า อีกทั้งยังก่อให้เกิดการค้าเสรีที่เป็นธรรม และช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการค้าในระดับสากล พร้อมช่วยยกระดับการค้าและมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกให้ดียิ่งขึ้น"
นายโนบุเทรุ อิชิฮาระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่น กล่าวกับที่ประชุมว่า ญี่ปุ่นเตรียมที่จะหารือกับชาติสมาชิกที่เหลืออีก 10 ประเทศ เพื่อบรรลุฉันทามติและร่วมกันผลักดันข้อตกลงดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนที่การประชุมรัฐมนตรีการค้ากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) จะเปิดฉากขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน
ก่อนหน้านี้ นายชินโซ อาเบะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมายอมรับว่า ข้อตกลง TPP คงไร้ความหมายเมื่อขาดสหรัฐ และโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ได้ออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องของออสเตรเลียที่ต้องการให้ประเทศอื่นๆเดินหน้าผลักดันข้อตกลง TPP ต่อไป แม้สหรัฐจะถอนตัวออกไปก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม ก็ยังคงมีความไม่พอใจในข้อตกลง TPP เนื่องจากพวกเขามองว่า ข้อตกลงที่ปราศจากสหรัฐอาจไม่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้มากเท่าที่ควร
เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ 12 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยออสเตรีย บรูไน แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม ได้ลงนามในข้อตกลง TPP ซึ่งครอบคลุมเศรษฐกิจโลกถึงราว 40%
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง TPP ได้หยุดชะงักลงในเวลาต่อมา หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวถือเป็น "หายนะ" ที่จะสร้างความเสียหายต่อการจ้างงานชาวอเมริกัน