ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นับจากนี้ไป กระบวนการเจรจาของรัฐบาลอังกฤษเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้สูญเสียเสียงข้างมากในสภาสามัญชนอย่างพลิกความคาดหมาย
ดร. โรบิน นิเบลตต์ ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศของอังกฤษ หรือ "ชาแธม เฮาส์" กล่าวว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกฯเมย์จะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้สนับสนุน Brexit ที่ไม่ยอมอ่อนข้อต่อการเจรจาใดๆ ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาสามัญชนครั้งนี้นั้น กลับมีส.ส.ที่เคยโหวตสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อหรือผู้ที่ต้องการข้อตกลงที่ปฏิบัติได้จริงกับ EU ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย
ดร. นิเบลตต์ กล่าวว่า "แรงกดดันจากความขัดแย้งเหล่านี้จะบีบให้รัฐบาลต้องแสวงหาข้อตกลงกับสหภาพยุโรปที่มีความเป็นกลางมากขึ้น และจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เนื่องจากในเวลานี้ นายกฯเมย์ไม่ใช่แค่ต้องการเสียงสนับสนุนจากคนในพรรคอนุรักษ์นิยมเท่านั้นอีกต่อไป"
เขากล่าวว่า นางเมย์ได้รับเลือกจากคนในพรรคอนุรักษ์นิยมให้เป็นหัวเรือใหญ่ในการนำพาอังกฤษฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆนานาในการผลักดันกระบวนการ Brexit แต่ท้ายที่สุดแล้ว พรรคอนุรักษ์นิยมกลับสูญเสียเสียงข้างมากในสภาสามัญชน และจำเป็นต้องพึ่งพาพรรคการเมืองขนาดเล็กเพื่อรวบรวมคะแนนเสียงให้เพียงพอต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ในรัฐสภาที่อยู่ในภาวะ "hung parliament" หรือภาวะที่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากในสภา
"ในช่วงการหาเสียงนั้น นางเมย์ไม่ได้อธิบายถึงวิธีการที่ว่าเธอจะจัดการกับการเจรจาอย่างไร หรือไม่ได้แสดงให้ประชาชนได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า ข้อตกลงที่ประสบความสำเร็จนั้นจะเป็นเช่นไร" ดร. นิเบลตต์ กล่าว
"นายกฯเมย์ได้หันกลับไปให้ความสำคัญกับการเจรจา Brexit ทันที ภายหลังจากที่พรรคอนุรักษ์นิยมของเธอสามารถจับมือกับพรรคสหภาพประชาธิปไตย (DUP) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีข้อกังขาต่างๆมากมายเกี่ยวกับภาวะผู้นำของเธอในการกุมบังเหียนหัวหน้าพรรคเพื่อลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป"
ดร. นิเบลตต์ แสดงความคิดเห็นว่า "หากนางเมย์ต้องการทำข้อตกลง Brexit ที่ประชาชนทั่วไปยอมรับนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องช่วยลดความเสี่ยงต่างๆที่มีต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องไม่ออกนโยบายที่บีบให้รัฐสภาพิจารณาว่า "การไม่มีข้อตกลงอะไรเลย ยังดีเสียกว่าการมีข้อตกลงแย่ๆอีก"
ดร. นิเบลตต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากผลลัพธ์ออกมาเป็นไปในทางลบ ก็ย่อมมีโอกาสที่รัฐสภาอังกฤษจะนำข้อตกลงกลับไปให้ประชาชนเป็นคนพิจารณาตัดสินโดยการลงประชามติครั้งที่สอง