สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (AIC) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT หรือ Over The Top) ต้องมาลงทะเบียนภายในวันที่ 22 ก.ค.
แถลงการณ์ระบุว่า ทาง AIC กังวลอย่างยิ่งว่า ไทยกำลังหันหลังให้กับนวัตกรรม จากการที่มีกฎระเบียบบริการ OTT ที่เสนอโดยกสทช.ออกมา โดยกฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญกับธุรกิจและผู้พัฒนานวัตกรรมไทยเป็นอันดับแรก แต่กลับเพิ่มภาระด้านกฎระเบียบ และมีแนวโน้มที่จะจำกัดความสามารถในการเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ กฎระเบียบดังกล่าวยังอาจปิดกั้นประชาชนและธุรกิจไทยนับล้านในการเข้าถึงแพลตฟอร์มระดับสากลในการสร้างธุรกิจออนไลน์ นอกจากนี้ เรามีความกังวลว่า กฎระเบียบดังกล่าวอาจขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศของไทย
AIC ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. โดยมีใจความว่า AIC กังวลว่าข้อเสนอควบคุมบริการ OTT โดยกสทช.นั้น จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทย อีกทั้งสร้างความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว และจำกัดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยซึ่งกำลังเติบโต
ทั้งนี้ แม้ AIC มองว่าการออกกฎระเบียบ OTT ของทางการไทยเป็นความมุ่งมั่นเชิงสร้างสรรค์ แต่ กสทช.ก็ไม่ได้ดำเนินการและร่างกฎระเบียบ OTT อย่างเปิดเผย ดังนั้น AIC จึงเสนอให้กสทช.เผยแพร่ร่างกฎหมายดังกล่าวและดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างโปร่งใส
แถลงการณ์ของ AIC มีขึ้นหลังจากกสทช.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการแจ้งการเป็นผู้ให้บริการ OTT เป็นเวลา 30 วัน (22 มิ.ย.-22 ก.ค.) หลังจากแจ้งการเป็นผู้ประกอบการแล้วก็จะสามารถดำเนินธุรกิจ OTT ได้ตามปกติ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ,การแจ้งผังรายการ , การดำเนินการตามกฎมัสแครี่
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการ OTT แพลตฟอร์มรายใหญ่อีก 3 ราย คือ Facebook , Youtube (บริการของ Google) และ Netflix ที่ยังไม่มารับเอกสารแจ้งการประกอบการ ทั้งนี้ กสทช.จะให้เวลาผู้ประกอบการทั้ง 3 รายดำเนินการตามกรอบเวลา 30 วัน หากไม่แจ้งเป็นผู้ประกอบการ OTT กสทช.จะยังคงให้ทุกบริษัทให้บริการต่อไป แต่อาจจะมีความลำบากในการทำธุรกิจ
ปัจจุบัน AIC มีสมาชิกได้แก่ Facebook, Google, Linkedin, Yahoo!, Twitter, Line และ Rakuten