คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 1.00-1.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้
นอกจากนี้ เฟดยังได้ประกาศว่า จะเริ่มปรับลดงบดุลที่ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ MBS ในเดือนต.ค. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์
ภายใต้นโยบายปรับลดงบดุลของเฟด เฟดจะกำหนดวงเงินพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และ MBS ที่เฟดจะปล่อยให้ครบกำหนดอายุโดยไม่มีการนำเม็ดเงินไปลงทุนใหม่ และจะเพิ่มเพดานตามเป้าหมายที่เฟดกำหนด โดยในเบื้องต้น เฟดจะจำกัดเพดานการลดวงเงินการถือครองตราสารเหล่านี้ที่ระดับ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ก่อนที่จะขยายเพดานการลดการถือครองตราสารอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในทุกๆ ไตรมาส จนกระทั่งแตะระดับ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในเดือนต.ค. 2561
ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า มติล่าสุดของเฟดนั้น ถือเป็นการปิดฉากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคมาตรการเข้มงวดทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative tightening หรือ QT)
การที่เฟดประกาศว่า จะเริ่มปรับลดงบดุลนั้นไม่ได้ส่งผลให้ตลาดเงินผันผวนมากนักในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ในระยะยาวนั้น การใช้มาตรการ QT บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในภายหลัง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดในแผนdkiทยอยปรับลดงบดุลแล้ว ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เฟดจะมีการเปลี่ยนทิศทางนโยบายครั้งใหญ่ในปี 2562
แม้ว่าเฟดได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะเริ่มลดการใช้มาตรการ QE แต่แนวโน้มเรื่องเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการปรับลดงบดุลในอนาคต
ในส่วนของค่าเงินนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การใช้มาตรการ QT ด้วยการปรับลดงบดุลและขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นผลดีต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ และอาจส่งผลดีตามมาต่อเงินหยวนด้วยเช่นกัน