การประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่ม G20 ซึ่งกำลังจะมีขึ้นที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีการหารือกันเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ
การประชุมระดับพหุภาคีในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 ต.ค.ที่จะถึงนี้ มีโอกาสชี้แจงเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูสถานะการคลัง หลังจากนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เคยให้คำมั่นต่อนานาประเทศว่าจะเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการเกินดุลงบประมาณให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2563
นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือนั้น ก็คาดว่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมซึ่งจะเปิดฉากขึ้นในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้
นายยูจิ คาเมโอกะ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราของบริษัทหลักทรัพย์ไดวากล่าวว่า "การปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติจะเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากที่ประชุม"
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้เฟดและ ECB เดินหน้าปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปี ด้วยการอัดฉัดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงิน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ประเทศในกลุ่ม G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, อังกฤษ, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดิอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ตุรกี, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป