มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ขยายโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) 2 รายการในปีนี้ ส่งผลให้การควบคุมดูแลการเงินมีทิศทางที่ดีขึ้น
รายงานระบุว่า มาตรการดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางจีน สามารถปรับสภาพคล่องเชิงดำเนินการ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงนโยบายการเงินของรัฐบาล
ยูเลีย หว่าน ผู้ช่วยรองประธานและนักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ กล่าวว่า "เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มในระยะยาวแล้ว โครงการเงินกู้ระยะกลางและโครงการจัดสรรเงินกู้เพิ่มเติม (PSL) เปิดโอกาสให้ธนาคารกลางจีนสามารถปรับสภาพคล่องในระยะยาว ส่งผลให้ตลาดและธนาคารทั้งหลายคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำขึ้น"
นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวว่า "ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย interbank repo rate ที่ผันผวนลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ซึ่งเป็นตอนที่ธนาคารกลางจีนประกาศหันไปอิงโครงการ MLF ระยะเวลา 1 ปี จากเดิม 3 หรือ 6 เดือน"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารกลางจีนเริ่มหันมาพึ่งพาการดำเนินการ OMO ซึ่งรวมถึงโครงการ MLF และ PSL เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน มากกว่าที่จะมุ่งลดอัตราดอกเบี้ย หรือลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR)
ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทางแบงก์ชาติได้อัดฉีดเงินผ่านทางโครงการ MLF เป็นวงเงิน 4.98 แสนล้านหยวนเพื่อช่วยให้ภาคธนาคารมีสภาพคล่อง โดยจะครบกำหนดในเวลา 1 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3.2%
ทั้งนี้ PBOC ได้เริ่มอัดฉีดเงินผ่านทางโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ในปี 2557 เพื่อช่วยให้ภาคธนาคารมีสภาพคล่อง จากการที่สามารถเข้ากู้ยืมจาก PBOC โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเครื่องค้ำประกัน