นักลงทุนทั่วโลกจับตาสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งจะทำการลงมติต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะส่งต่อไปให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองเป็นกฎหมายก่อนวันคริสต์มาส
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในวันนี้ ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติในวันพรุ่งนี้
นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐ หลังจากนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้ว ร่างกฎหมายปฏิรูประบบภาษีที่ผลักดันโดยสมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้น จะสามารถผ่านความเห็นชอบในสภาคองเกรส และส่งต่อให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามเป็นกฎหมายภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากนายบ็อบ คอร์เกอร์ และมาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซีและฟลอริดา ซึ่งมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปภาษีก่อนหน้านี้ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า พวกเขาจะโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว
นายเควิน แบรดี้ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นผู้นำในการร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าพรรครีพับลิกันมีคะแนนเสียงในมือที่จะผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับดังกล่าว
"ผมคิดว่าเราจะได้ชัยชนะครั้งใหญ่ในวันอังคารนี้" นายแบรดี้กล่าว
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันได้เปิดเผยรายละเอียดขั้นสุดท้ายของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษี ซึ่งมาจากการรวมเนื้อหาของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาและ สภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายจะยังคงจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ที่ 7 ขั้น คือที่ระดับ 10%, 12%, 22%, 24%, 32%, 35% และ 37% โดยลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดสู่ระดับ 37% จากระดับ 39.6% ขณะเดียวกัน จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า แทนที่จะชะลอออกไปอีก 1 ปีตามร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของวุฒิสภา
หากร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ ก็จะถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี และจะถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสนับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.