นักเศรษฐศาสตร์เยอรมนีกังวลแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐเป็นภัยคุกคามการจ้างงาน-การลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 21, 2017 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าของเยอรมนีหลายรายได้ออกมาเตือนถึงผลลบจากแผนปฏิรูปภาษีของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจเยอรมนี

นายเคลเมนส์ ฟืสต์ ประธานของ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี แถลงต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังเดินหน้าตาม "แนวโน้มทั่วโลกในเรื่องการปรับลดภาษี" ซึ่งล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

"สิ่งนี้จะยกระดับการแข่งขันในแง่การลงทุนและการจ้างงาน" นายฟืสต์กล่าว

ร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยเฉลี่ยของกลุ่มชาติสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นั้นปัจจุบันอยู่ที่ 25%

นายโจชิม แลง ผู้อำนวยการสภาอุตสาหกรรมเยอรมนี (BDI) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กฎระเบียบใหม่ในแง่การตัดจำหน่ายและกิจกรรมการพาณิชย์ข้ามชาตินั้น จะก่อให้เกิด "สิ่งจูงใจครั้งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจย้ายการดำเนินงานและเงินลงทุนไปยังสหรัฐอเมริกา"

ด้านนายราล์ฟ วีเชอร์ส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำสภาวิศวกรเยอรมนี (VDMA) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีออกมารับมือ "อย่างสร้างสรรค์" ด้วยการลดภาระทางการเงินของบริษัทต่างๆในเยอรมนี หากรัฐบาลต้องการป้องกันไม่ให้แรงงานและธุรกิจย้ายไปสหรัฐอเมริกา

นอกเหนือจากการลดภาษีแล้ว นายวีเชอร์สยังได้เสนอให้มีการออกมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบใหม่ เพื่ออุดหนุนโครงการวิจัยของกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ให้ความเห็นว่า "เมื่อรายได้จากการเก็บภาษีของเยอรมนีทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ก็ทำให้เกิดโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างทางการคลังอย่างชาญฉลาด"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ