หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี ของจีนรายงานว่า นายกัว ซูชิง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ได้ให้คำมั่นว่า ทางการจีนจะใช้บทลงโทษกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบโดยอาศัยช่องว่างในโครงสร้างผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการปฏิรูปภาคการเงินและเสถียรภาพในภาคธนาคาร
ประธาน CBRC เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นบางรายใช้ธนาคารเสมือนตู้กดเงินเพื่อเอาเงินเข้าตัวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบการเงินในภาพรวม ขณะที่ธนาคารบางรายยังมีการกำกับดูแลไม่รัดกุมมากพอ ส่งผลให้ทางการจีนจำเป็นต้องมีมาตรการลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบเหล่านี้
อย่างไรก็ดี ประธาน CBRC ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าจะใช้มาตรการลงโทษกับกลุ่มใดบ้าง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลัง CBRC ประกาศเตรียมออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในภาคธนาคารในปีนี้เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน
แถลงการณ์ของ CBRC ระบุถึงมาตรการสำคัญลำดับแรกสุด ได้แก่ การกำกับดูแลธนาคารเงา และการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้จะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมความเสี่ยงในกิจกรรมอินเทอร์แบงก์ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และธุรกิจนอกงบดุล (Off-Balance Sheet) ที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ที่มีเครดิตต่ำ
ขณะเดียวกัน ผู้ที่กระทำความผิดในด้านธรรมาภิบาลองค์กร สินเชื่อบ้าน และการจำหน่ายถ่ายโอนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จะได้รับโทษรุนแรงขึ้น
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มาตรการล่าสุดสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลจีนในการกวาดล้างผู้กระทำผิดในภาคการเงินที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 โดยในปีที่แล้ว CBRC ได้สั่งปรับสถาบันการเงินเป็นเงินเกือบ 3 พันล้านหยวน (ประมาณ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และลงโทษบุคคล 270 ราย