ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกลดลง 16% สู่ระดับ 1.52 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2560 จากระดับ 1.81 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2559
UNCTAD เปิดเผยรายงาน "Global Investment Trends Monitor" พร้อมระบุว่า ผลลัพธ์ที่ออกมานี้เป็นที่น่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ
นายมูคิสะ คิทูยิ เลขาธิการ UNCTAD กล่าวว่า "FDI ยังคงฟื้นตัวอย่างยากลำบาก โดย FDI ในประเทศกำลังพัฒนานั้น อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในภาคส่วนต่างๆซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ยังคงไม่เป็นไปตามต้องการ"
เม็ดเงิน FDI ที่ไหลเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งลดลงถึง 27% นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการลงทุนทั่วโลกลดลง โดยเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในสหรัฐลดลง 32% และในอังกฤษร่วงลงถึง 90% นายเจมส์ ซาน ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของ UNCTAD กล่าวว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุด โดยเฉพาะในจีนซึ่งการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายซานได้แถลงต่อองค์การสหประชาติว่า (UN) ว่า "กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกที่ลดลงนั้น สวนทางกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจระดับมหภาค อาทิ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการเติบโตทางการค้า ซึ่งมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2560"
อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า "แนวโน้มของการเติบโตที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันในปี 2561 นั้นมีความเป็นไปได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก"
ทั้งนี้ FDI ที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 6.53 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2560 โดยเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย, ละตินอเมริกา และแคริบเบียน เพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด ขณะเดียวกันก็ทรงตัวในภูมิภาคแอฟริกา โดยประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียกลับมาครองตำแหน่งภูมิภาคที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก ตามด้วยสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือ