ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เปิดเผยว่า ความมั่งคั่งทั่วโลกขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความไม่เท่าเทียมปรากฎให้เห็น รายงาน "Changing Wealth of Nations 2018" ของเวิลด์แบงก์ แสดงให้เห็นว่า ความมั่งคั่งทั่วโลก ซึ่งนับรวมต้นทุนทางสังคม, ทุนทางธรรมชาติ, ทุนมนุษย์ และสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธินั้น ขยายตัวขึ้น 66% สู่ระดับ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2557 จากระดับปี 2538
รายงานระบุว่า ความมั่งคั่งในประเทศที่มีรายได้สูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างปี 2538-2557 ขณะที่ความมั่งคั่งเริ่มแพร่กระจายไปยังประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลางและประเทศในอันดับต้นๆของโลก ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำยังคงมีความล้าหลัง
เวิลด์แบงก์กล่าวว่า ความมั่งคั่งในประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ประเทศส่วนใหญ่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2538-2557 โดยรายได้ต่อหัวในประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้น มีการขยายตัวมากที่สุด
รายงานดังกล่าวให้เหตุผลว่า ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการสั่งสมทุนมนุษย์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาผลิตผลในด้านสุขภาพและการศึกษา
อย่างไรก็ดี ความไม่เท่าเทียมกันยังคงมีปรากฎให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว โดยรายงานพบว่าความมั่งคั่งต่อหัวในประเทศที่มีรายได้สูงขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) นั้น มากกว่าความมั่งคั่งในประเทศรายได้ต่ำถึง 52%