ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในแดนลบเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ดีดตัวขึ้น หลังจากมีรายงานว่า แกนนำวุฒิสมาชิกในสภาคองเกรสสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับงบประมาณระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีงบประมาณใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
นักลงทุนยังคงจับตาการโหวตร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในสภาคองเกรสสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์) หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก่อนที่จะส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป โดยร่างงบประมาณชั่วคราวที่สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันอังคารนั้น จะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณในการดำเนินงานต่อไปได้อีก 6 สัปดาห์ หรือจนถึงวันที่ 23 มี.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์
-- แกนนำพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในวุฒิสภาสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับงบประมาณระยะเวลา 2 ปี เพื่อเพิ่มงบประมาณรายจ่ายให้กับรัฐบาลอีกเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่จะลดความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังต้องรอการอนุมัติจากสภาคองเกรส
ทั้งนี้ หากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณภายในเวลาเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือเวลาเที่ยงของวันศุกร์ตามเวลาไทย สหรัฐก็จะเผชิญภาวะชัตดาวน์อีกครั้ง หลังจากที่เกิดการชัตดาวน์เป็นเวลา 3 วันในเดือนที่แล้ว
-- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ได้ดีดตัวสู่ระดับ 2.796% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.068%
การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ประกอบกับข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแรงในสหรัฐนั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้
-- กระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีน้ำหนักมากขึ้น หลังจากที่นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ออกมาแสดงความเห็นว่า เฟดควรถอนตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เนื่องจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ นายแคปแลนยังกล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีททรุดตัวลงในระยะนี้ ถือเป็นการปรับฐานที่ดี หลังจากที่พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน นายแคปแลนคาดว่าการดิ่งลงของตลาดหุ้นจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด
-- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.พ.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้สร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดทองคำ
สัญญาทองคำปิดตลาดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาด โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.7% สู่ระดับ 90.196 เมื่อคืนนี้
-- บิตคอยน์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 8,000 ดอลลาร์ หลังจากที่สหรัฐไม่ได้มีการออกมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลเมื่อวานนี้ นับเป็นการปรับตัวขึ้นมากกว่า 2,000 ดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 1 วัน โดยได้ปัจจัยบวกจากการที่ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) และประธานคณะกรรมาธิการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) เข้าให้การต่อคณะกรรมาธิการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้ ซึ่งได้เน้นย้ำถึงการปกป้องผู้บริโภค โดยที่ไม่มีการออกมาตรการห้ามซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
ก่อนการเข้าให้การดังกล่าว บิตคอยน์ดิ่งลงต่ำกว่า 6,000 ดอลลาร์ โดยอยู่ที่ 5,947.40 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.ปีที่แล้ว
-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความแสดงความเห็นว่า เขาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการดิ่งลงของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในช่วงนี้ โดยระบุว่าตลาดได้ปรับตัวสวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความแข็งแกร่ง
"ในอดีต เมื่อมีการรายงานข่าวดี ตลาดหุ้นก็จะดีดตัวขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ เมื่อมีการรายงานข่าวดี ตลาดหุ้นกลับตกลง นี่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ และเรามีข่าวดีมากมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
-- นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้เฟดสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงกลางปีนี้
"ถ้าเราไปถึงจุดนั้นแล้ว และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นอย่างยั่งยืน เราก็สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป" นายอีแวนส์กล่าว
อย่างไรก็ดี นายอีแวนส์กล่าวว่า เขายังคงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ ถ้าหากข้อมูลด้านเงินเฟ้อ และข้อมูลอื่นๆ บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
-- นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเสมอไป หลังจากที่นักลงทุนต่างแสดงความกังวลว่าเฟดอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีการเทขายหุ้นเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ตลาดมองว่าตัวเลขค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเป็นสญญาณว่า เฟดอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยกล่าวไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ว่าจะปรับเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม บุลลาร์ดกล่าวว่า ค่าแรงที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของเฟด
-- พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) สามารถบรรลุข้อตกลงซึ่งจะปูทางไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแล้ว หลังจากที่เยอรมนีต้องเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ตัวแทนจากพรรค CDU/CSU และ SPD ได้เจรจานานหลายวัน จนถึงกลางดึกวานนี้ ก่อนจะบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังจากที่การเจรจาหลายครั้งก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงาน และสาธารณสุข
-- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 7.972 แสนล้านเยน (7 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการเกินดุลติดต่อกันเดือนที่ 42
ส่วนยอดเกินดุลการค้าสินค้าในเดือนธ.ค.อยู่ที่ระดับ 5.389 แสนล้านเยน เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการนำเข้าเพิ่มขึ้น
สำหรับในปี 2560 ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งสิ้น 21.87 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550
-- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่างๆ โดยในวันนี้จีนและเยอรมนีจะเปิดยอดส่งออก, นำเข้า และดุลการค้าเดือนม.ค., ธนาคารกลางอังกฤษจะจัดการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งจะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค.ของจีน, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.ของฝรั่งเศส, การผลิตภาคอุตสาหกรรมและดุลการค้าเดือนธ.ค.ของอังกฤษ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค.ของสหรัฐ