การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและถูกจับตาใกล้ชิดจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์ Belt and Road เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางดังกล่าว รวมถึงประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเกาะติดสถานการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
คุณหยาง หยาง ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารนิเทศ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนว่า การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ที่ผ่านมานั้น ชี้ให้เห็นว่าสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีนได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว แม้จะยังมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องช่องว่างทางรายได้และการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำ แต่รัฐบาลจีนก็มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมที่มีความมั่งคั่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาทุกภาคส่วนในแนวทางสันติภาพ ด้วยการยืนหยัดนโยบายที่เปิดกว้างและสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศต่างๆเพื่อที่จะเติบโตไปพร้อมๆกัน
คำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับคำยืนยันของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยที่กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า รัฐบาลไทยเองก็เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจะส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน และกำลังดำเนินนโยบายให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลจีน เพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตร่วมกับยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา ที่จะมาเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน รวมถึงนโยบายด้านต่างๆที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาร่วมกันอีกหลายนโยบาย
นอกจากผู้แทนภาครัฐจากทั้งฝ่ายไทยและจีนแล้ว ภายในงานยังเชิญนักวิชาการและนักธุรกิจจากภาคเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงโอกาสและอุปสรรคของนักธุรกิจไทยในช่วงเสวนาหัวข้อ "มองเศรษฐกิจ ชี้ช่องธุรกิจไทย-จีน ปี 2561" โดยได้รับเกียรติ์จาก ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด, ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณณัฐพงศ์ เลิศวุฒิรักษ์ ผู้จัดการบริษัท ท่องไทย มีเดีย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการและประธานคณะบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย) มาร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้
- ไอซีบีซีแนะสร้างแบรนด์สินค้าไทย เพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค
ดร.จื้อกัง หลี่ ประธานกรรมการและประธานคณะบริหารธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับการค้าไทย-จีนว่า การค้าการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศยังมีโอกาสอีกมาก หากแต่ติดที่อุปสรรคในเรื่องของบุคคลาระดับสูง และแรงงานระดับต่ำที่ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของไทยเองก็ยังต้องได้รับการปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่ง, สภาพอากาศ มลภาวะ โดยเขามองว่า ภาคเอกชนของไทยให้ความสนใจกับการลงทุนจากจีนเป็นอย่างมาก แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอจากภาครัฐ
นอกจากนี้ ดร.หลี่ยังแนะนำให้ไทยสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวจีน โดยให้เหตุผลว่า แม้สินค้าไทยจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก แต่จุดอ่อนของไทยก็คือยังไม่มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ไทยควรจะต้องหันมามองและทุ่มเทให้กับการพัฒนาคุณภาพและสร้างแบรนด์สินค้าไทยขึ้นมาให้ได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
- ศูนย์วิจัยกสิกรเผยธุรกิจบริการของไทยยังไปได้อีกไกลในตลาดจีน
ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด อธิบายโครงสร้างการค้าระหว่างไทยและจีน โดยระบุว่า สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมยังมีไม่มาก ซึ่งจะเป็นความท้าทายของไทยต่อไปในอนาคต เพราะหากมองไปที่นโยบายของจีนที่แถลงออกมาเมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เป้าหมายของจีนก็คือจะหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าการจะเข้าไปสู่ในซัพพลายเชนของจีนในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ยากลำยากมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดร.เชาว์ แนะนำว่า ไทยไม่ควรคิดที่จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนเพียงอย่างเดียว แต่ควรดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่า โครงสร้างพื้นฐานที่เรามีอยู่นี้ก็ดีพอในระดับหนึ่งที่จะทำให้จีนเข้ามาเลือกเราเป็นแหล่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเทคโนโลยีและยานยนต์ ขณะที่การจะเข้าไปทำธุรกิจในจีนนั้น เขามองว่า ธุรกิจประเภทการบริการ อย่างร้านอาหาร บริการสุขภาพนั้น เป็นธุรกิจที่น่าสนใจและยังคงไปได้อีกไกลในตลาด
- แค่รู้ภาษาจีนไม่พอ แต่ต้องรู้จักจีนด้วย
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนส่งผลให้จีนเป็นตลาดที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกัน คนไทยในปัจจุบันนิยมเรียนภาษาจีนมากขึ้น ในเรื่องนี้ ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายว่า เรื่องของภาษาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจกับชาวจีน แม้ทั้งคนไทยและคนจีนจำนวนมากในปัจจุบันจะสามารถพูดภาษาอังกฤษกันได้แล้ว แต่การสื่อสารกันด้วยภาษาของแต่ละประเทศย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า นั่นทำให้คนไทยนิยมเรียนภาษาจีนกันเป็นจำนวนมาก แต่การพูดคุยรู้เรื่อง อ่านตัวอักษรจีนออก ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเข้าใจประเทศจีนได้อย่างลึกซึ้ง
ผศ.วรศักดิ์กล่าวว่า การรู้ภาษาจีนมันคนละเรื่องกับการรู้เรื่องจีนซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่า พร้อมอธิบายต่อไปว่า เราจะเห็นได้ว่าจีนในปัจจุบันแก้ปัญหาได้ดีกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะอย่างเรื่องการวิจัยและพัฒนา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมานี้จีนได้ทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก ต่างจากไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวน้อยมาก คือเรายังเตรียมคนของเราไม่เพียงพอ ฉะนั้นหากจะเข้าไปทำธุรกิจกับจีน สิ่งสำคัญก็คือเราควรต้องทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อที่จะรู้จักเค้าให้มากขึ้นเสียก่อน
- โอกาสอยู่ข้างหน้า แค่เข้าหาจีนให้ถูกทาง
นอกจากเรื่องของภาษาและความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการเข้าไปทำธุรกิจในจีนแล้ว นักธุรกิจหนุ่มผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศจีนมาหลายปีอย่างคุณณัฐพงศ์ เลิศวุฒิรักษ์ ผู้จัดการบริษัท ท่องไทย มีเดีย แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ยังเสริมถึงมุมมองของเขาที่มีต่อจีนว่า การเข้าไปลงทุนในประเทศจีนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท เพราะจีนเติบโตขึ้นเร็วมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ผู้ที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจในจีนจึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ ทั้งระบบการชำระเงินผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีอยู่มากมาย ตลอดจนช่องทางโปรโมทสินค้าต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนให้มากที่สุด ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำการบ้านกันเป็นอย่างดี