รายงานนโยบายอาหารโลกประจำปี 2561 จากสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารนานาชาติ (IFPRI) เปิดเผยว่า กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์และนโยบายกีดกันทางการค้าที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ผู้คนอดยากมากขึ้น รวมถึงเกิดปัญหาในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารอีกด้วย
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขณะที่กระแสตีกลับเกี่ยวกับโลกาภิวัฒน์กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศที่พัฒนาแล้ว กระแสดังกล่าว "ยังส่งผลกระทบต่อคนยากคนจนนับล้านคนในประเทศด้อยพัฒนาด้วยเช่นกัน"
นโยบายสนับสนุนทางการเกษตรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงและเงินอุดหนุนด้านเกษตรกรรม ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลก อีกทั้งยังลดแรงจูงในการผลิตสินค้าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาในถิ่นทุรกันดาร
นายเชงเกน ฟาน ผู้อำนวยการทั่วไปของ IFPRI กล่าวกับสื่อมวลชนก่อนที่รายงานฉบับนี้จะถูกเปิดเผยออกมาว่า "สถานการณ์ที่ถดถอยลงในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเรามุ่งมั่นจะยุติปัญหาความยากจนและความอดอยากให้ได้ภายในปี 2573"
ขณะเดียวกัน นายฟานกล่าวอีกด้วยว่า "ความร่วมมือในระดับสากลเพื่อออกกฏหมายซึ่งจะช่วยยกระดับประโยชน์ของโลกาภิวัฒน์ และลดความเสี่ยงของตัวมันเอง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานฉบับดังกล่าวของ IFPRI มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ในวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีเป้าหมายที่จะลงโทษจีนในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา