ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ
สินค้าของจีนที่ตกเป็นเป้าหมายในการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐ เป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐ
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์จะสั่งการให้ USTR เปิดเผยรายการสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีภายใน 15 วัน และจะมีช่วงเวลา 30 วันสำหรับการรับฟังความเห็นจากประชาชน ขณะที่ USTR ได้ระบุรายการสินค้าที่จะตกเป็นเป้าหมายแล้ว โดยเป็นสินค้าจำนวน 1,300 รายการ
-- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 700 จุดเมื่อคืนนี้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อการลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ โดยข่าวดังกล่าวส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกเหนือจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแล้ว ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโยกย้ายตำแหน่งในคณะทำงานของปธน.ทรัมป์ นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างต่อเนื่องของหุ้นเฟซบุ๊ก ยังได้ฉุดหุ้นตัวอื่นๆในกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงด้วย
-- รัฐบาลจีนเตรียมประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการตอบโต้หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวานนี้
รายงานระบุว่า จีนได้วางแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก ผลไม้ ไวน์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆของสหรัฐในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าเนื้อหมูและอลูมิเนียมในอัตรา 25% โดยจีนได้พุ่งเป้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 128 รายการ
ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้ทันที หากจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจาด้านการค้ากับสหรัฐได้
-- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดิ่งลงเมื่อคืนนี้ ขณะที่นักลงทุนแห่เข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ณ เวลา 21.19 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.826% หลังจากดิ่งแตะ 2.820% ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.053%
-- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 7-2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ด้านนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการ BoE ส่งสัญญาณภายหลังการประชุมเมื่อวานนี้ว่า BoE อาจพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากอัตราค่าจ้างในอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า อัตราค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งรวมโบนัส ขยายตัว 2.8% ในเดือนม.ค. โดยเพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนธ.ค. และหากไม่นับรวมโบนัส อัตราค่าจ้างเดือนม.ค.ขยายตัว 2.6%
-- ตลาดการเงินจับตาการโหวตร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว และได้ส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อทำการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ สภาคองเกรสจะต้องโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวให้ทันเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือในวันเสาร์เวลา 11.00 น.ตามเวลาไทย ซึ่งหากร่างงบประมาณฉบับนี้ไม่ได้รับการลงนามจากปธน.ทรัมป์ก่อนกำหนดเส้นตาย ก็จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐเผชิญกับการปิดหน่วยงานของรัฐ (ชัตดาวน์) เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้
-- ศาลเกาหลีใต้อนุมัติคำขอของอัยการเมื่อวานนี้ในการออกหมายจับนายลี เมียงบัค อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในข้อหารับสินบน 1.1 หมื่นล้านวอน (10.3 ล้านดอลลาร์) ขณะดำรงตำแหน่ง
ทั้งนี้ ศาลเขตกลางประจำกรุงโซลให้การอนุมัติดังกล่าว หลังจากมีการพิจารณาเอกสารที่ได้รับจากอัยการ
-- กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 1% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานเดือนก.พ.ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดือนม.ค.ซึ่งขยายตัวเพียง 0.9% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2%
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 229,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย หลังจากดิ่งลงแตะระดับ 210,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512
ตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 159 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513
-- Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 0.6% สู่ระดับ 108.7 ในเดือนก.พ. โดยปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึง คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, ราคาหุ้น และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน
-- ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ชะลอตัวลงสู่ระดับ 54.3 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หลังจากดีดตัวแตะ 55.8 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน
ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน อยู่ที่ 55.3 ในเดือนมี.ค. ลดลงจากตัวเลขเดือนก.พ.ที่ระดับ 57.1 และยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเยอรมนีในเดือนมี.ค. ลดลงสู่ระดับ 55.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน จากระดับ 57.6 ในเดือนก.พ.
นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของฝรั่งเศสเดือนมี.ค.ปรับตัวลงสู่ระดับ 56.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 57.3 ในเดือนก.พ.
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีกำหนดการรายงานวันนี้ สหรัฐเตรียมรายงานตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. เวลา 19.30 น. ตามเวลาไทย และยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ. เวลา 21.00 น.